นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ กระทรวงการคลัง ควรมีการหารือกันเพื่อสร้างความชัดเจนให้กับตลาดเงินเกี่ยวกับมาตรการกันสำรอง 30% เพราะหากยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลิกหรือไม่จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดเงินตลอดทั้งปี ส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดเงินสูงขึ้นเกินความจำเป็น สร้างผลเสียต่อรัฐบาลในช่วงที่ต้องการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรในโครงการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์
นายประสาร กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% มากที่สุด เนื่องจากขณะนี้ภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยยังเสี่ยงสูงต่อภาวะเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไร จากการที่เงินดอลลาร์ยังมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำหนดใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อแก้ไขปัญหาซับไพร์ม
“ถ้าปัญหาเลิกหรือไม่เลิกมาตรการ 30% ยืดเยื้ออยู่แบบนี้ ก็จะทำให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงิน ดังนั้น ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าถ้าจะเลิกแล้วดันบาทแข็งก็ไม่เป็นไร เพื่อดึงเงินเข้าตลาดตราสารหนี้ แต่ถ้าใช้วิธีลดดอกเบี้ยมากก็มีผลข้างเคียงกับเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยที่แท้จริงใกล้ติดลบแล้ว หากยังลดดอกเบี้ยตามเฟดก็ต้องลดไม่ยาวมาก" นายประสาร ระบุ
อย่างไรก็ตาม หาก ธปท.จะใช้นโยบายการกำหนดการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นรายวัน เช่นเดียวธนาคารกลางจีน ในแนวทางก็ไม่จำเป็นต้องบอกเป็นกรอบตัวเลขเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงิน แต่ควรใช้เพื่อบรรเทาความผันผวนเงินบาทในระยะสั้นเท่านั้น
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/อภิญญา/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--