พาณิชย์ แนะไทยวางแผนส่งออกไก่ไปจีนเพิ่มขึ้น หลังผู้บริโภคเลี่ยงเนื้อหมูกลัวโรคอหิวาต์แอฟริการะบาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 26, 2019 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในจีน ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคของจีนเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมู ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าไก่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ส่งออกไก่ไทยที่จะสามารถส่งออกไก่ไปจีนได้มากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี 2561 จีนได้ประกาศอนุญาตให้บริษัท/โรงงานผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานสามารถส่งออกสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปจีนได้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท/โรงงานผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ไทยที่ได้รับการรับรองโรงงานกับจีนแล้วจำนวน 7 โรงงาน ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการส่งออกไก่ของไทย ผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับปรุงคุณภาพโรงงานไก่ให้ได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานจีนกำหนด

สำหรับสินค้าไก่ที่จีนประกาศอนุญาตให้นำเข้าจากไทย ได้แก่ (1) เนื้อไก่ แช่แข็ง (ทั้งชิ้นหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ไม่รวมเนื้ออกไก่แช่แข็ง น่องไก่แช่แข็ง) (2) ไก่ทั้งตัวแช่แข็ง (ทั้งชิ้นหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ไม่รวมเนื้ออกไก่แช่แข็ง น่องไก่แช่แข็ง) (3) ไขมันไก่ที่ไม่ได้กลั่นแช่แข็ง (สำหรับรับประทานไม่รวมไขมันจากเครื่องใน) (4) เนื้ออกไก่แช่แข็ง (5) น่องไก่แช่แข็ง (6) ปีกไก่แช่แข็ง (7) อื่นๆ แช่แข็ง (ปลายปีกไก่ เท้าไก่ โครงไก่กระดูกอ่อนไก่ คอไก่ และเอ็นข้อไก่) (8) เครื่องในไก่แช่แข็ง (กึ๋นไก่ ตับไก่ หัวใจไก่)

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยยังได้เปรียบในการส่งออกสินค้าไก่ไปจีนเหนือประเทศคู่แข่งอื่นๆ โดยไทยได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน โดยจัดเก็บที่อัตราร้อยละ 0 อีกด้วย ซึ่งจะสร้างแต้มต่อทางการส่งออกให้กับสินค้าไทยได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปทั่วโลกกว่า 190,285.1 ตัน มูลค่า 14,461.5 ล้านบาท โดยส่งออกไปญี่ปุ่น อันดับ 1 รองลงมา ได้แก่ จีน สหภาพยุโรปและมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.9 24.3 23 และ 8.2 ตามลำดับ

จากสถิติการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (HS Code 0207) เดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 จีนนำเข้าไก่ปริมาณ 354,299 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 52.1 (ปริมาณ 232,938 ตัน) แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ บราซิลเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 249,299 ตัน สัดส่วนร้อยละ 70 โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.6 (ปริมาณ 200,019 ตัน) และนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับ 2 ปริมาณ 38,082 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งนำเข้าเพียง 2,200 ตันเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.7 รองลงมาได้แก่ อาร์เจนตินา ชิลี และโปแลนด์ ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ