นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวในการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอินว่า การเปิดรับฟังความเห็นจากนักลงทุนและสถาบันการเงิน เพื่อนำไปประเมินรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม คาดจะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมปลายปี 2562- ต้นปี 2563 และเปิดประมูลหาผู้ร่วมทุนราวปลายปี 2563 – ต้นปี 2564
ตามแผนโครงการจะเปิดให้บริการหลังปี 2568 ซึ่งจะไม่มีผลต่อปัญหาข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขัน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) แต่อย่างใด เนื่องจากสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จะสิ้นสุดช่วงปี 2569
ปัจจุบันปริมาณจราจรบนถนนพหลโยธินในช่วงดังกล่าวมีจำนวนสูงถึง 2 แสนคันต่อวัน ซึ่งมีปัญหารถติดอย่างมาก และคาดว่า จะมีรถขึ้นไปใช้ทางยกระดับประมาณ 20% และการที่เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาคอขวดบนถนนพหลโยธินช่วงดังกล่าว
สำหรับโครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. มูลค่าโครงการ 39,956 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบ 28,135 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ ค่าบำรุงรักษา ตลอดสัญญา (30 ปี) 11,821 ล้านบาท
โดยโครงการมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ปลายทางยกระดับอุตราภิมุขที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของถนนพหลโยธิน) จุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+880 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อโดยตรงเข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางปะอิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 8 แห่ง
โครงการแบ่งขอบเขตการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ ภาครัฐ/เอกชนเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ช่วงรังสิต-บางปะอิน และเอกชนติดตั้งงานระบบตลอดทั้งโครงการ โดยครอบคลุมช่วงรังสิต-บางปะอิน และช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต (ซึ่งเปิดให้บริการในปัจจุบัน) โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน ระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนเป็น ผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา (ครอบคลุมช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน) โดยกำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 33 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบและก่อสร้างโครงการ 3 ปี และระยะเวลาดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 10 - 30 ปี
จากการศึกษาพบว่าแนวโน้มการร่วมลงทุนกับเอกชนในรูปแบบ PPP Gross Cost จะเหมาะสม และกำหนดอัตราค่าผ่านทางสูงสุดที่ 60 บาทตลอดสาย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน และ EIRR เกิน 12% หรือเฉลี่ย 2-3 บาทต่อกม. เพราะถือเป็นมอเตอร์เวย์ในเมือง ส่วนนอกเมือง เช่น สายบางปะอิน-นครราชสีมา คิดค่าผ่านทางเฉลี่ย 1.25 บาทต่อกม. ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี เฉลี่ยที่ 1.5 บาทต่อกม.
ขณะที่ได้เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) คาดว่าจะได้รับการพิจารณาในปีนี้ นอกจากนี้โครงการได้ออกแบบแล้ว และจะก่อสร้างไปตามแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน จะมีการเวนคืนพื้นที่ประมาณ 9 ไร่ (จำนวน 9 แปลง) ค่าเวนคืนประมาณ 100 ล้านบาท บริเวณที่เป็นแลมป์เชื่อมต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์ (บางปะอิน-นครราชสีมา) ที่ปลายสายทาง