น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค. จีนประกาศปรับแผนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 5 - 10% รวม 5,078 รายการ มูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งมีแผนขึ้นภาษีรถยนต์ 25% และชิ้นส่วนยานยนต์ 5% ว่า การขึ้นภาษีของจีนครั้งนี้ มีเป้าหมายไปที่รายการสินค้าต่างๆ อาทิ ถั่วเหลือง ฝ้าย เนื้อหมูและวัว น้ำมันดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือ และเซมิคอนดัคเตอร์) อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องบินเล็ก เป็นต้น
โดยสหรัฐฯ ประกาศตอบโต้ทันทีโดยเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจีน ดังนี้ 1. สินค้ากลุ่ม 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 15% (จากเดิม 10%) บังคับใช้ 1 ก.ย. และ 15 ธ.ค.62 และ 2. สินค้ากลุ่ม 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ขึ้นภาษีไปแล้ว เป็น 30%) (จากเดิม 25%) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 อีกทั้งสั่งการให้บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ถอนการลงทุนออกจากจีนทันที
น.ส.พิมพ์ชนก ให้ความเห็นว่า มาตรการของจีนค่อนข้างเฉพาะเจาะจง และมุ่งเป้าสินค้าที่เป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีโดนัลป์ ทรัมป์ เป็นหลัก เช่น ในแถบ Midwest และตอนใต้ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ส่งออกถั่วเหลือง อีกทั้งสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ ในตลาดจีน ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ รวมถึงน้ำมันดิบ โดยจีนยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบที่สำคัญของสหรัฐฯ มีสัดส่วนประมาณ 6% ของการส่งออกต่อปี ตลอดจนอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี และเครื่องจักรของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สนค. ได้ตรวจสอบรายละเอียดรายการสินค้าที่จีนขึ้นภาษีสหรัฐฯ พบว่าสินค้าส่วนใหญ่ จีนได้ใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้ ในล๊อต 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีสินค้าใหม่ประมาณ 2,000 รายการ และพบว่าสินค้าไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งส่งออกทดแทนในหลายรายการ อาทิ ปลาแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์นมและครีม เครื่องจักรสาน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของยานยนต์
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การตอบโต้ครั้งล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย แต่ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความวิตกกังวลว่าจะเร่งส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกกำลังขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง และ IMF ได้ประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2562 ไว้ที่ 3.2% (ล่าสุด ก.ค.62) ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.3% เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในจีนและเยอรมนี ประเด็นเรื่อง Brexit ความตึงเครียดในฮ่องกง หรือการลาออกจากตำแหน่งผู้นำอิตาลี ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ประเด็นค่าเงินก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดที่สาม ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดวันนี้ (26 สิงหาคม 2562) ค่าเงินหยวนในประเทศซื้อขายในตลาดเอเชียร่วงลงมาอยู่ที่ 7.1487 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 11 ปี นับตั้งแต่ต้นปี 2551
อย่างไรก็ตาม คาดว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในแถบยุโรป และญี่ปุ่น และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงประเทศต่างๆ จะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปี
"ในระยะที่ค่าเงินมีแนวโน้มผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และผู้นำเข้าควรทำสัญญาระยะยาวกับคู่ค้าเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขาย และลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากข้อพิพาททางการค้า" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการใดต่อไป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้รูปแบบทางการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คิด ไทยควรใช้โอกาสที่สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนให้บริษัทพิจารณาแหล่งผลิตอื่นๆ กระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากข้อพิพาททางการค้า
ในส่วนของการส่งออก แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวบ้างและจำเป็นจะต้องติดตามสถานกาณณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังเห็นโอกาสในหลายจุด เช่น การส่งออกไปยังสหรัฐฯ เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมายังขยายตัวถึง 16.3% แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีสินค้าหลายรายการที่แข่งขันได้ เราต้องใช้จุดแข็งแสวงหาโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ. พาณิชย์) เมื่อวันที่ 14 ส.ค. กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับภาคเอกชนเตรียมมาตรการกระตุ้นการส่งออก การค้าชายแดน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะนำสินค้าไทยแทรกเข้าไปในหลายๆ ตลาด เพื่อกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก ลดการพึ่งพาตลาดเดิม ตลอดจนการลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจของภาคเอกชน
พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งทีมวอร์รูม (War Room) ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าอย่างใกล้ชิดและเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที และเฝ้าระวังการนำเข้าในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ฯ อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องจักรไฟฟ้าฯ ทองแดง และเคมีภัณฑ์ เพื่อป้องกันการสินค้าไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ไทยเป็นแหล่งสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าอีกด้วย