สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ค.62 อยู่ที่ 100.7 หดตัวลง 3.23% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ยกเว้นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีการซ่อมบำรุงโรงกลั่น
ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ก.ค.62 อยู่ที่ 65.68%
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวในเดือนก.ค. ได้แก่ การกลั่นและการผสมสุรา ขยายตัว 72.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำการตลาดโดยได้ปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีการตอบรับที่ดีทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัว 15.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดในประเทศที่มีความต้องการสินค้าต่อเนื่อง รวมถึงตลาดส่งออกได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศ CLMV โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเมียนมาร์
น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 25.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและส่งออกตามปริมาณผลปาล์มที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพื่อลดสต๊อกน้ำมันปาล์มและดึงราคาปาล์มให้สูงขึ้น
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัว 17.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้ โดยได้เร่งผลิตและส่งมอบตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 9.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นน้ำแร่ เนื่องจากผู้ประกอบการได้ขยายตลาดในทุกช่องทางจัดจำหน่าย รวมถึงการปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากนี้ สศอ. ได้ปรับคาดการณ์ MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 62 เหลือโต 0.0 - 1.0% จากเดิมที่คาด 2-3%ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญมาจากผลกระทบจากสงครามการค้าที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยลดลงและทำให้การผลิตสินค้าลดลงด้วย
นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ประเทศเดียว 4.9% ขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามอ่อนค่า 1.3%, เกาหลีใต้อ่อนค่า 7.7%, มาเลเซียอ่อนค่า 5%
อย่างไรก็ตาม หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท จะประสบผลสำเร็จทั้ง 3 มาตรการ ซึ่ง สศอ.รอประเมินผลอีกครั้งหลังจบไตรมาส 3
"0.0-1.0% เป็น worst case ณ ตอนนี้ แต่เราจะติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยจะประเมินตัวเลขอีกครั้งหลังไตรมาส 3... หวังสงครามการค้าจบด้วยดีและเร็ว เพราะยืดเยื้อต่อไปไม่เป็นผลดีต่อทั้งสหรัฐฯและจีน"นายอิทธิชัย กล่าว