สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนม.ค. 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 11 ปี หลังจากวิกฤตการณ์พายุหิมะในจีนได้ส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ส่วนดัชนี CPI ตลอดปี 2550 ขยายตัวขึ้น 4.8%
ทั้งนี้ NBS ระบุว่า ดัชนี CPI ในเมืองสำคัญๆของจีนขยายตัวขึ้น 6.8%
ดัชนี CPI ซึ่งเป็นตัวเลขชี้วัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรุนแรงของจีนนั้น ทำให้จีนเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป หลังจากยอดเกินดุลการค้าของจีนพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค.และปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 20 เดือน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าจีนจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะประเมินตัวเลขการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐและสถานการณ์ในภาคการผลิตอย่างครบถ้วนก่อนหลังจากที่ต้องเผชิญกับพายุหิมะครั้งรุนแรง
นายซัน หมิงฉวน นักวิเคราะห์จากเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ ในฮ่องกงกล่าวว่า "แม้ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นในช่วงไตรมาสแรก แต่เราคาดว่าธนาคารกลางจีนจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเร็วเกินไป ก็จะมีปัญหามากมายตามมา อาทิ ปัญหากำลังการผลิตสูงเกินไป กำไรบริษัทเอกชนหดหาย และอัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น"
"เราเชื่อว่าค่าเงินหยวนที่แข็งแกร่งขึ้นและการควบคุมอัตราการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์จะเป็นยุทธวิธีที่ดีที่สุดที่ใช้ควบคุมเงินเฟ้อของจีนในปีนี้ และเท่าที่ทราบ รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมราคาอาหารและพลังงานแล้ว" นายหมิงฉวนกล่าว
เลห์แมน บราเธอร์สกล่าวว่า ธนาคารกลางทั่วภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญทางเลือกที่ว่าควรจะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือไม่ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ เลห์แมน บราเธอร์สประกาศลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย(ยกเว้นญี่ปุ่น) ลงสู่ระดับ 7.3% จากเดิมที่ระดับ 7.6% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ระดับ 4.6% จากเดิมที่ระดับ 4.2% เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--