นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังนำคณะกรรมการฯ เข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ว่า ได้ยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานและยกระดับศักยภาพแรงงานตามนโยบายรัฐบาล
โดยข้อเสนอดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การปรับอัตราค่าจ้างของแรงงานไทย ควรยึดตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยผ่านกลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และให้เป็นไปตามทักษะฝีมือแรงงาน โดยกระทรวงแรงงาน ควรเร่งส่งเสริมการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นให้ครบทุกอุตสาหกรรม
2.ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการ UP-Skill Re-Skill และ New-Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อาทิ ส่งเสริมการจัดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นในระดับกลาง และระดับสูง การขยายให้บุคคลธรรมดานำค่าใช้จ่ายในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทั้งนี้หอการค้าไทยยินดีเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาต่าง ๆ ตลอดจน การร่วมกำหนดนโยบายในการพัฒนาผลิตภาพแรงงานและทักษะฝีมือแรงงานของประเทศโดยรวม
3.การเพิ่มกำลังคนทดแทน โดยการส่งเสริมการจ้างแรงงานทีมีศักยภาพมาใช้ในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10.6 ล้านคน ให้มีการวางระบบ Re-Employment สำหรับแรงงานสูงอายุ โดยสร้างมาตรการจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการจ้างงานดังกล่าว อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่มีการจัดฝึกอบรมทักษะให้ผู้สูงอายุ การขยายมาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างงานผู้สูงอายุเป็นรายชั่วโมง และกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับกลุ่มแม่บ้าน หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีรายได้เสริม เป็นต้น
นอกจากนั้น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงาน (Big Data) ของกระทรวงแรงงาน เป็นประเด็นสำคัญที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อมูลด้านแรงงาน และเป็นกลไกในการบูรณาการข้อมูลหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งเห็นควรให้มีการรื้อฟื้นการจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านแรงงาน เพื่อเป็นกลไกแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย กำหนดแผนและนโยบายรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน พร้อมทั้งเร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร อาทิ การลดขั้นตอนในการจัดทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) ให้มีความสะดวกมากขึ้น การออกมาตรการผ่อนปรนให้แรงงานตามฤดูกาลที่เข้ามาทำงานภาคเกษตร อาทิ คัดแยกผลไม้ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตสามารถทำงานข้ามจังหวัดได้ เป็นต้น
และ 4.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยหอการค้าไทย เสนอให้มีผู้แทนภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการพิจารณา ร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ...
ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้เสนอให้มีการปรับปรุงงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (39 อาชีพ) ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม และควรกำหนดนิยามอาชีพให้มีความชัดเจน พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงแรงงานเห็นความสำคัญและส่งเสริมโครงการ GLP (Good Labour Practices) หรือแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี ที่สถานประกอบการจะนำไปปฏิบัติใช้เองด้วยความสมัครใจ
นายกลินท์ กล่าวว่า รมว.แรงงาน ได้รับข้อเสนอของหอการค้าไทย โดยขอให้พิจารณาเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างฯ ซึ่งหอการค้าไทยเห็นด้วยในเรื่องการปรับค่าแรง แต่ขอให้การพิจารณาเป็นไปตามกฎหมายไตรภาคี เนื่องจากยังเป็นห่วง SME และภาคเกษตรที่จะได้รับผลกระทบ นอกจากนี้เอกชนยังจะทำ Re-Skill และ Up-Skill ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานอีกด้วย ด้านม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวว่า ประเด็นเร่งด่วนที่ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยขอให้กระทรวงแรงงานเร่งพิจารณา ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างของแรงงานไทย โดยทางสภาหอการค้าฯ มีความเห็นที่ตรงกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงานไทย แต่ไม่ควรเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกลไกการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) นอกจากนี้ การปรับค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงให้กระทรวงแรงงานเร่งส่งเสริมการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นให้ครบทุกอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานรับทุกประเด็นดังกล่าวที่สภาหอการค้าฯ เสนอ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป