นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.62 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์จากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน ประกอบกับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้จากเดือนก่อนหน้าในเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการ ด้านอุปทานมีการขยายตัวในภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในเดือน ก.ค.62 ปรับตัวดีขึ้น โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 17.5% ต่อปี ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัว 0.8% ต่อปี และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 11.5% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว -9.1% ต่อปี จากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยหากหักปัจจัยพิเศษดังกล่าว จะพบว่ายอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวลดลงอยู่ที่ -2.6% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 62.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า
ในส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัว 9.9% ต่อปี ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวที่ -2.4% ต่อปี
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัว -4.5% ต่อปี เช่นเดียวกับภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว -6.0% ต่อปี และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัว -2.0% ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กเป็นสำคัญ
ขณะที่เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี โดยการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนกลับมาขยายตัว สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง และแปรรูป ยางพารา ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์ขยายตัวอยู่ที่ 1.7% ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าเกินดุลที่มูลค่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่าภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรขยายตัวได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.33 ล้านคน ขยายตัว 4.7% ต่อปี เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน โดยขยายตัวที่ 5.8% ต่อปี และนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ลาว และมาเลเซีย เป็นต้น และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่ารวม 167,283 ล้านบาท ขยายตัว 3.1% ต่อปี เช่นเดียวกับภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัว 0.2% ต่อปี
ส่วนภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -3.2% ต่อปี เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า การปรับลดลงดังกล่าวมีปัจจัยมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้งซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการผลิต และเรื่องสงครามการค้าซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% ต่อปี และเมื่อหักสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน มิ.ย.62 อยู่ที่ 41.3% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP
เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.62 อยู่ในระดับสูงที่ 218.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) และ Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นเชิงบวก (Positive Outlook) ภายใต้ Rating BBB+ (Fitch) และ Baa1 (Moody’s) ในช่วงเดือน ก.ค.62 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทย