"ปริญญ์" แนะก.เกษตรฯ-พาณิชย์ หนุนเอกชนใช้จังหวะบาทแข็งขยายลงทุนตปท.-มุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าสร้างความแตกต่าง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2019 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย กล่าวในงาน Thailand Focus 2019 หัวข้อ"โอกาสและความท้าทายธุรกิจในเวทีโลก และอุตสาหกรรมเกษตร"ว่า แม้ภาคตลาดทุนอาจได้อานิสงส์จากเงินบาทที่แข็งค่า แต่ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ภาคเอกชนจะไปลงทุนในต่างประเทศ รัฐบาลไทยมีหน้าที่สนับสนุนเอกชนไทยให้ออกไปต่างประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ มีแผนสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Famer เพื่อมุ่งหน้าสร้างสินค้าไทยแบรนด์ และ อาเซียนแบรนด์ต่อไป อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ เตรียมจะใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และ ข้อมูลขนาดใหญ่ เข้ามาส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งขณะนี้ช่องทางการขายยังต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ตลอดจนมีแผนการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต้นทุนการเงินสูงให้กับธุรกิจ SME

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ได้วางแผนผลักดัน Geographical Indications (GI) สินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อคุ้มครองและรับรองคุณภาพสินค้านั้นๆ ซึ่งมาจากแหล่งผลิตที่มีลักษณะเฉพาะทางธรรมชาติ ควบคู่ไปกับหาตลาดให้สินค้าเหล่านี้ โดยความร่วมมือระหว่างสำนักผู้แทนการค้าในต่างประเทศของทั้ง 2 กระทรวงที่ต้องทำงานประสานกันและสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญต่อการดูแลภาคการเกษตรไทยมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน มีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลคนเดียวกัน แม้กระทั่งรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคพลังประชารัฐ ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มั่นใจได้ว่านโยบายต่างๆ ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายปริญญ์ กล่าวว่า ความตกลงการค้าระหว่างประเทศจะถูกนำกลับมาเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีขนาดและความสำคัญยิ่งกว่าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP)

ทั้งนี้ โอกาสและความท้าทายธุรกิจไทยในเวทีโลกและอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ใช่เพียงแค่เม็ดเงินกระตุ้นผ่านมาตรการต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลระยะสั้น แต่โอกาสที่แท้จริงด้วยการเป็นพันธมิตรของทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งรัฐ เอกชน หน่วยงานราชการ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วและจะเดินหน้าต่อไป

ขณะที่หากพิจารณาถึงอุปสรรคสำคัญของภาคการเกษตรไทย คือ คุณภาพของสินค้าเกษตร ซึ่งหากดูจากภายนอกจะไม่สามารถแยกถึงความแตกต่าง เช่น ระหว่างข้าวหอมมะลิเกรดพรีเมี่ยมกับข้าวที่เกรดต่ำกว่า จึงทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อคู่ค้าผู้นำเข้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ