สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ก.ค.ปรับดีขึ้นหลังท่องเที่ยว-ลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2019 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ก.ค.62 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวในทุกภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคและการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ก.ค.62 ขยายตัว 3.7% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 9.5% และ 15.9% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น เลย และอุดรธานี เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคในเดือน ก.ค.62 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 49.7 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 50.1 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 8.5% และ 2.6% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และชัยภูมิ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1,557 ล้านบาท จากการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลในจังหวัดขอนแก่นเป็นสำคัญ

ด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนขยายตัว 2.4% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานเดือน พ.ค.62 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 14.6% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 8.0% และ 27.0% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน และพิจิตร เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.9 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 46.3 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 9.0% และ 5.6% ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และน่าน เป็นต้น

ด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัว 2.3% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน พ.ค.62 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายตัว 11.1% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดอ่างทอง สระบุรี และชัยนาท เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 12.4% ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวเล็กน้อยที่ -0.5% ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 49.1

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 12.4% และ 48.3% ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสระบุรี และอ่างทอง เป็นต้น

ด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัว 3.0% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัว 2.3% และ 6.3% ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ 0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน พ.ค.62 อยู่ที่ 1.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 8.8% และ 7.3% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี และ สุพรรณบุรี เป็นต้น ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัว -10.9% ต่อปี

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 21.7% ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2,042.39 ล้านบาท จากการลงทุนเพิ่มในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นสำคัญ

สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัว 2.5% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ 0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน พ.ค.62 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 23.0% และ 3.6% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี นครนายก และสระแก้ว เป็นต้น ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัว -8.4% ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 21.1% และ 15.2% ต่อปี ตามลำดับ

ด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องหลังจากปัญหาหมอกควันคลี่คลายลง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัว 3.4% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 2.9% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัว 2.3% และ 4.4% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 21 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 109.1 ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ที่ 0.7% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน พ.ค.62 อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 7.6% และ 18.1% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และระนอง เป็นต้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นบริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.0 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 50.8 ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวลงเล็กน้อยที่ -1.4% ต่อปี

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ยายตัว 19.4% ต่อปี ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช และระนองเป็นต้น สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัว 4.6% ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 4.0% ต่อปี โดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 5.8% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ที่ 0.7% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน พ.ค.62 อยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

สำหรับกทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 11.8% และ 3.7% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมทรสาคร และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากไตรมาสก่อน

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัวที่ 2.5% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 1.9% ต่อปี โดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 6.5% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน พ.ค.62 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ