แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.) จะพิจารณาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าการนำเข้า LNG ของกฟผ.ในช่วงที่ความต้องการใช้ก๊าซฯโดยรวมยังไม่มากนัก จนทำให้เกิดกรณี Take-or-Pay ซึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถรับก๊าซฯได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น จะกระทบต่อราคาก๊าซฯในระบบพลู ที่จะปรับขึ้นราว 2 บาท/ล้านบีทียู และกระทบต่อค่าไฟฟ้าปรับขึ้นราว 2 สตางค์/หน่วย
นอกจากนี้ปัจจุบันราคา LNG ในตลาดจร (spot) สำหรับสัญญาระยะกลาง อยู่ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่จัดหา LNG ของกฟผ.ตามสัญญา 8 ปี คาดว่ามีราคาอยู่ที่ราว 8-9 เหรียญสหรัฐ/ล้านทีบียู ทำให้เห็นว่ายังไม่น่าจะมีความจำเป็นนำเข้ามาใช้ เพราะหากมีการใช้ก๊าซฯในประเทศเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นด้วย โดยเห็นว่าการนำ LNG เข้ามาใช้น่าจะอยู่ในช่วงปี 64-65
อนึ่ง กฟผ.ดำเนินการจัดหา LNG เพื่อนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตนเองในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อนหน้านี้ โดยเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา กฟผ. ได้คัดเลือกบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ชนะประมูลจัดหาและนำเข้า LNG ให้กับ กฟผ.ปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี จากผู้ยื่นข้อเสนอแข่งขันด้านราคาจำนวน 12 ราย และมีแผนจะนำเข้า LNG ล็อตแรกในเดือนก.ย.นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัทคู่ค้าที่ชนะการประมูลได้ เพราะติดปัญหาหากเกิดกรณี Take-or-Pay
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมกบง.ในวันพรุ่งนี้ จะมีการทบทวนเรื่องการนำเข้า LNG ของกฟผ.หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวจะมีข้อสรุปโดยเร็วและคำนึงถึงนโยบายที่ไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าภาคประชาชน และแผนงานที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางจำหน่าย LNG ในภูมิภาค