นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) มหานครการบินเจิ้งโจว ระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone:ZAEZ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สำหรับความร่วมมือสำคัญตาม MOU ครั้งนี้ ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการพัฒนามหานครการบิน ด้านต่างๆ อาทิ การวางผังศูนย์กลางการบินและการเชื่อมโยง กลยุทธ์การคัดเลือกอุตสาหกรรม ความร่วมมือสถาบันการศึกษาด้านการบินการวางผังเมือง การท่องเที่ยวและงานวิจัย เป็นต้น
2.การส่งเสริมการลงทุน และการจัดทำระบบ E-Commerce ในพื้นที่ EEC และ ZAEZ 3.การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการบินครบวงจร ระหว่าง EEC และ ZAEZ และ 4.การสนับสนุนความร่วมมือและการพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ระหว่าง EEC และ ZAEZ ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกในพื้นที่ 6,500 ไร่ของสนามบินอู่ตะเภา และบวกรัศมี 30 กิโลเมตรรอบสนามบิน (พัทยา-ระยอง) ที่ถูกวางให้เป็นมหานครการบินภาคตะวันออก
นายสมคิด กล่าวว่า ท่าอากาศยานเจิ้งโจว เป็นสนามบินที่เชื่อมโยงการคมนาคมของจีน ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในการกระจายสินค้าที่สำคัญของจีน โดยไทยจะนำโมเดลการพัฒนาเมืองการบินของเจิ้นโจวมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองการบินในไทย
นายสมคิด กล่าวว่า ท่าอากาศยานเจิ้งโจวมีพันธะสัญญาเชื่อมโยงด้านการค้าและการขนส่งกับทางยุโรป ซึ่งหลังจากการลงนาม MOU แล้วอยากใช้โอกาสนี้ในการเชื่อมโยงสินค้าจากไทยไปจีนและเชื่อมต่อไปยังสหภาพยุโรปด้วย พร้อมทั้งนำโมเดลและความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าของเจิ้นโจวมาพัฒนาเมืองการบินของไทยด้วย
นายสมคิด ยืนยันว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ไม่ส่งผลต่อการเดินหน้าโครงการนี้ และจากความร่วมมือที่ไทยเชื่อมโยงกับโครงการเส้นทางเศรษฐกิจ (One Belt One Road) จะเดินหน้าเปิดตลาดใหม่กับจีน ซึ่งตนเองมีกำหนดจะเดินทางไปเยือนเมืองกวางตุ้งและเซินเจิ้นในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อไปโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าลงทุนในไทยมากขึ้น
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาธิการ EEC) กล่าวว่า ไทยจะนำประสบการณ์จากเจิ้งโจว ที่เป็นมหานครในภาคกลางของจีน ขนาดพื้นที่ 415 ตร.กม. และเป็นมหานครบินใหม่ที่เริ่มทำได้ 3 ปี ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองการบิน ในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกันจากพัทยา-ระยอง
ทั้งนี้ความร่วมมือเมืองการบินทางเหนือของเอเชีย (North Asia Aerotropolis) จากเจิ้งโจว และ เมืองการบินตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย (South East Asia Aerotropolis) จากอู่ตะเภา เพื่อให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้า มีความเชื่อมโยง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กันได้ ที่จะมีระบบคมนาคมเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งท่าเรือขนาดใหญ่ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง เพื่อลดระยะเวลาเดินทาง โดยจะดึงดูธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว รวมถึงการเชื่อมโยงลูกค้าภาคธุรกิจ ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ไม่ใช่เพียงสร้างสนามบิน แต่จะเป็นการพัฒนาเมืองการบิน ซึ่ง ZAEZ ทำสำเร็จแล้ว
นายคณิศ กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ZAEZ จะเริ่มจากธุรกิจขนส่งทางอากาศ (Cargo) ที่ ZAEZ จะเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าทางอากาศของจีน รับสินค้านำเข้าสำคัญ 7 สินค้า เช่น ผลไม้ อาหารทะเล สัตว์ปีก สัตว์มีชีวิต อาหารสำเร็จรูป ยา อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งผลไม้จากพื้นที่ EEC จะถูกส่งไปประเทศจีน จะสามารถขยายไปทั่วประเทศจีน และยังสามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ที่ ZAEZ ได้มีความร่วมมือกับทางสหภาพยุโรป โดยเบื้องต้น ไม่จำเป็นต้องรอให้โครงการให้แล้วเสร็จ แต่สามารถนำมาใช้พื้นที่ใกล้เคียงสนามบินอู่ตะเภา และอาคารผู้โดยสารหลังเดิมนำมาดำเนินการเรื่อง Cargo ไปก่อน
ทั้งนี้ ธุรกิจการบินใน ZAEZ ในอีก 3 ปี จะมีผู้โดยสาร 27 ล้านคน ธุรกิจ Cargo เพิ่มเป็น 5.15 แสนตัน คิดเป็น 60% ของประเทศ
นอกจากนี้มีความร่วมมือการลงทุนในอุตสาหกรรมร่วมกัน ซึ่ง ZAEZ ได้ดำเนินการแล้ว โดยมีบริษัทด้านไอที และ สมาร์โฟน กว่า 60 ราย มีบริษัทที่เกี่ยวต้องกับการขนส่งทางอากาศ 36 บริษัท บริษัทที่ทำธุรกิจด้าน E-Commerce 431 บริษัท บริษัทซ่อมเครื่องบิน 5 บริษัท โดยคาดว่าจะมีกลุ่มบริษัทดังกล่าวหลายแห่ง สนใจและพร้อมที่จะมาลงทุนในพื้นที่ EEC และคาดว่าจะมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนเพิ่มอีก
ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กัน เรียนรู้ประสบการณ์จาก ZAEZ เพื่อให้ EEC Aerotropolis ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
"ทำไมต้องเป็นเจิ้งโจว เพราะเป็นมหานครการบินที่สมบูรณ์แบบมาก เป็น Case Study ที่เราให้ความสนใจ เราเรียนรู้ เจิ้งโจว ว่าอย่ามองว่าทำสนามบินเท่านั้น แต่เข้าทำพื้นที่รอบๆสนามบิน รัศมี 30 กม. ให้เป็นเมืองการบิน" เลขาธิการ EEC กล่าว
ทั้งนี้ ความร่วมมือกับ ZAEZ ที่ได้ลงนาม MOU มีระยะเวลา 2 ปี และสามารถขยายระยะเวลาต่อไปได้
ด้านนายหม่า เจี้ยน ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว กล่าวว่า การเซ็น MOU วันนี้ทำให้การขยายความร่วมมือระหว่าง ZAEZ และ EEC กันมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือ แต่มองว่าสองฝ่าย win win ด้วยกัน โดยรูปแบบการพัฒนาเมืองมหานครการบิน เจิ้งโจว คือรูปแบบใหม่ มีการลงทุนสนามบิน และมีการพัฒนาเมือง และจะเป็นรูปแบบที่ EEC ใช้ขยายเมืองการบิน
พลเรือตรีเกริกไชย วจนาภรณ์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ กล่าวในงานสัมมนา "ภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนา EEC Aerotropolis"ว่า ทางกองทัพเรือได้ให้ความร่วมมือกับทางรัฐอย่างเต็มที่ โดยได้มอบพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อจัดตั้งเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ 6,500 ไร่ ปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี และตามแผนพัฒนาใน 50 ปีข้างหน้า คาดว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 2 มูลค่า 2.7 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะข้อสรุปในเดือนกันยายนนี้ และสามารถลงนามเซ็นสัญญาได้ในเดือนธันวาคมนี้ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีและคาดว่าในปี 2567 จะสามารถเปิดให้บริการเมืองสนามบินได้เต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ภาครัฐยังมีการลงทุนในศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) โดยตั้งเป้าให้กลายเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งเอเชียในอนาคต รวมถึงจะมีการบริหารจัดการให้ระบบควบคุมการจราจรทางอากาศเป็นไปตามมาตรฐานสากล และจัดการระบบสาธารณูปโภค ทั้งประปาและไฟฟ้า เพื่อยกระดับให้กลายเป็นสนามบินนานาชาติให้ได้
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา) จะทำให้สนามบินอู่ตะเภา กลายเป็นสนามบินนานาชาติของกรุงเทพมหานครแห่งที่ 3 ที่มีความเชื่อมโยงกัน
พลเรือตรีเกริกไชย ยังกล่าวว่า ทางกองทัพเรือจะให้การสนับสนุนด้านการศึกษา พัฒนาบุคลากรรองรับ EEC และทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่มากขึ้น
นายปิยยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการวางแผนเรื่องผังเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยวกับทาง EEC มาโดยตลอด ซึ่งเมืองการบินที่ตั้งอยู่ในอู่ตะเภา ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดระยอง ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมและพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ ในการรองรับการเติบโตและการขยายตัวของเมือง รวมถึงการเชื่อมโยงระบบการขนส่งจากสนามบินอู่ตะเภากับทางจังหวัด และคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
ด้านนายรัตนชัย สุทธิเดชานัย อุปนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยว เมืองพัทยากล่าวว่า เมืองพัทยามีแผนในการพัฒนาให้กลายเป็นสมาร์ทซิติ้ เพื่อรองรับ EEC หวังผลักดันเกิดการจ้างงาน และทำให้เศรษฐกิจในเมืองพัทยาดีขึ้น โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาใน 4 ด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ส่วนระบบการขนส่งอยู่ระหว่างการศึกษาการนำรถรางเบา เพื่อเชื่อโยงระบบขนส่งระหว่างรถไฟความเร็งสูงกับเมืองพัทยาด้วย