นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เสนอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายในสังคมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนมากที่สุด
"คนที่เดือดร้อนและเสียหายมากที่สุดคือผู้ผลิตที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ พวกเกษตรกร เพราะไม่ได้ประโยชน์เรื่องต้นทุนลด ทั้งที่ชาวไร่ชาวนาควรจะได้มากกว่านี้ แต่ค่าเงินบาทมันแข็งเลยได้ไม่มากเท่าที่ควร" นายไตรรงค์ กล่าว
เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเหมือนในอดีตไม่สามารถทำได้อีกแล้ว เพราะขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก ดังนั้นรัฐบาลควรจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อช่วยกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกร
"มันเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องกำหนดว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ตรงไหนจึงมีความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ แบ่งปันผลประโยชน์ ถ้ารัฐบาลไม่ตัดสินใจแล้วประเทศนี้จะให้ใครตัดสินใจ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนกำหนดคนเดียวไม่ได้" นายไตรรงค์ กล่าว
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของตัวเองที่เรียกว่าอัตรานโยบาย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ซึ่งหากติดขัดในเรื่องข้อกฎหมายกระทรวงการคลังก็ต้องเสนอแก้ไข เพราะกระทรวงคลังมีหน้าที่กำหนดนโยบายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)นำไปปฏิบัติ แต่ต้องให้ ธปท.มีเสรีภาพในการเลือกเครื่องมือที่จะไปใช้ดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย
นอกจากนี้ นายไตรรงค์ยังเสนอให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น
"เมื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ความต้องการจะใช้ดอลลาร์เพื่อซื้อเครื่องจักรและเครื่องมือก็จะมากขึ้น เมื่อปริมาณดอลลาร์ลดลง ราคาลองกองราคาลำไยก็สูงขึ้น" นายไตรรงค์ กล่าว
นายไตรรงค์ กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลมีแรงกดดันหลายด้านที่ส่งผลให้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น ตนเองจึงมีความเป็นห่วงเรื่องวินัยการเงินการคลังและความยั่งยืนทางการคลัง ขณะที่รายได้หลัก 90% ของรัฐบาลมาจากการจัดเก็บภาษี ดังนั้นจึงต้องพิจารณาขยายฐานภาษีใหม่
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--