KBANK เผยดุลบัญชีเดินสะพัดไทย ก.ค.62 เกินดุลลดลงจากการส่งออกหดตัวเป็นสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2019 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เผยดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุลลดลงในเดือนก.ค.62 โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 1,768 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยกว่าเดือนก่อนที่เกินดุล 3,923 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และต่ำกว่าตลาดที่คาดว่าจะเกินดุล 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฯ โดยมีปัจจัยฉุดจากดุลการค้าที่ลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่ ดุลบริการกลับมาเพิ่มขึ้น ด้านเศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณที่ดีขึ้นเล็กน้อยจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว และการส่งออกที่ดีขึ้น แต่การส่งออกไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการผลิต และการลงทุนทรงตัวจากเดือนก่อน

ปัจจัยหลักที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 1,768 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากดุลการค้าที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1,692 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการส่งออกที่ฟื้นขึ้นน้อยกว่าการนำเข้า โดยการส่งออกขยายตัว 3.8%YoY จาก -2.1%YoY ในเดือนก่อนจากการส่งออกทองเป็นหลัก หากไม่รวมทอง การส่งออกอยู่ที่ -1.7%YoY นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 จากผลของสงครามการค้าและการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกที่กดดันการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่การส่งออกในบางหมวดสินค้าได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากไทยทดแทนสินค้าจีน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าด้านการนำเข้าเร่งขึ้นมาขยายตัวที่ 0.9%YoY จาก -9.6%YoY ในเดือนก่อนหน้า

ด้านดุลบริการและเงินโอนกลับมาเกินดุลที่ 75.9 ล้านดอลลาร์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 4.7%YoY จาก 1.3%YoY ในเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนจากผลของเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต และ นักท่องเที่ยวจากอินเดียขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on arrival

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นที่ 2.6%YoY จาก 2.1%YoY ในเดือนก่อนจากการซื้อรถจักรยานยนต์และ รถยนต์เชิงพาณิชย์ และสินค้าหมวดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคต่อไปแผ่วลงจากจำนวนผู้มีงานทำที่ลดลง 3.1%YoY และอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% จาก 0.5% ในเดือนก่อนประกอบกับรายได้ภาคกรเกษตรขยายตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรลดลงมาก

ด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว โดยการลงทุนชะลอลงทั้งในด้านการซื้อเครื่องจักรที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้ม การส่งออกที่อ่อนแอ และการลงทุนในภาคก่อสร้างหดตัวลงตามการชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ยอดการจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ