นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ที่ระดับ 13 ล้านล้านบาทนั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นประเด็นที่ ธปท. แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง เพราะหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางและการขาดภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ (income shock) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้
แม้มาตรการที่ ธปท. ออกในช่วงก่อนหน้า เช่น มาตรการ LTV จะส่งผลดีทำให้การก่อหนี้ในหมวดดังกล่าวชะลอลง แต่ยังคงต้องติดตามภาวะหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความสามารถในการรองรับ income shock ของภาคครัวเรือนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอลง
สำหรับกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม ที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 0.52% นั้น จากรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมิถุนายน 2562 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 อยู่ที่ 1% อย่างไรก็ดี ข้อมูลจริงในระยะหลัง (มิ.ย.-ส.ค.) ที่ออกมาต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะในหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ทำให้มีโอกาสที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม
และจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2562 กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จึงมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% (จาก 1.75% เป็น 1.50%) ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย อีกทั้งภายในทุกสิ้นปี กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะหารือร่วมกันถึงเป้าหมายนโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประกาศใช้ในปีถัดไป