นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสด้านการกลั่นและปิโตรเคมี บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันพร้อมสนับสนุนรัฐบาลที่จะผลักดันให้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล (B100) ในสัดส่วน 10% หรือ B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานภายในสิ้นปี 62 แทน B7 ในปัจจุบัน และจะให้ B7 เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือก เพราะจะมีส่วนช่วยผลักดันราคาน้ำมันปาล์มให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามต้องการให้ภาครัฐกำหนดสเปกของ B100 ให้มีความชัดเจน เพราะจะต้องนำมาผสมในน้ำมันดีเซลด้วยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็น B10 และจะต้องให้เป็นที่ยอมรับของค่ายรถยนต์ยุโรปด้วย เนื่องจากการใช้ B10 ในปัจจุบันมีเพียงค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ให้การยอมรับ
ขณะที่การนำ B100 มาผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ปริมาณเนื้อน้ำมันดีเซลที่ใช้ลดลงราว 3-5% ด้วยเช่นกัน และหากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่ากลุ่มโรงกลั่นน่าจะสามารถปรับตัวด้วยการส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละโรงกลั่นก็มีฐานการส่งออกน้ำมันอยู่บ้างแล้ว
"การใช้ B10 เป็นเกรดน้ำมันมาตรฐานน่าจะอยู่ที่อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหลักว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เขารับได้ไหม โดยเฉพาะค่ายยุโรป เพราะจริง ๆ รถในยุโรปเขาไม่ใช้ B10 เขาจะใช้แต่ B7 ส่วนที่รัฐบาลจะผลักดันอันนั้นก็เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่การปฏิบัติจริงสุดท้ายก็จะมีทั้ง B7 และ B10...ที่ผ่านมาเราก็คุยกับกรมธุรกิจพลังงานตลอด เรื่องสำคัญคือสเปกน้ำมันจะใช้ B7 หรือ B10 สเปกน้ำมันต้องผลิตได้ ผู้ใช้คือรถยนต์ ต้อง accept ได้ เราก็พร้อมซัพพอร์ตให้ แต่เราขอเรื่องสเปก ว่าสเปกของ B100 เป็นอย่างไรต้องได้สเปกตามมาตรฐานรถยนต์ด้วยเมื่อผสมเป็น B10 แล้ว"นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 และการใช้มาตรฐานเครื่องยนต์ ยูโร 5 และยูโร 6 เบื้องต้นได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้ ก่อนจะประกาศออกมาพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวรองรับได้ทัน โดยคาดว่ามาตรฐานน้ำมันยูโร 5 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.67 ส่วนมาตรฐานไอเสียที่ออกจากเครื่องยนต์ ยูโร 5 และยูโร 6 น่าจะบังคับใช้ในปี 64 และปี 65 ตามลำดับ
ปัจจุบันมาตรฐานน้ำมันของไทยอยู่ในระดับยูโร 4 ทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซล แต่ผู้ประกอบการโรงกลั่นของไทยที่มีศักยภาพสามารถผลิตน้ำมันดีเซล ตามมาตรฐานยูโร 5 มีเพียงโรงกลั่นของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และโรงกลั่นของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) คิดเป็นการผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ได้ราว 500 ล้านลิตร/เดือน จากยอดใช้ดีเซลรวมทั้งประเทศ 2 พันล้านลิตร/เดือน แต่ปัจจุบันโรงกลั่นเหล่านี้ก็ยังไม่มีการผลิตออกสู่ตลาดเพราะจะมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ส่วนโรงกลั่นน้ำมันอื่น ๆ ก็ต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จาก 2.75 แสนบาร์เรล/วันในปัจจุบันนั้น จะสามารถรองรับน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ได้ โดยโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 66
สำหรับค่าการกลั่น (GRM) ในช่วงไตรมาส 3/62 ปรับตัวดีกว่าไตรมาส 2/62 ที่อยู่ราว 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากเป็นช่วงพีคของการใช้น้ำมันเบนซิน ตามฤดูกาลท่องเที่ยว ,กรณีข้อพิพาททั้งกรณีอิหร่าน เวเนซุเอลา หรือความไม่แน่นอนทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Geopolitics) แม้จะมีปัจจัยฉุดรั้งจากสงครามการค้าก็ตาม แต่ในส่วนของผลบวกจากเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่า 0.5% ในปี 63 จากระดับ 3.5% ในปัจจุบันนั้น ยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก แต่เชื่อว่าน่าจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 4/62
สำหรับการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ของ IMO นั้นกำหนดเฉพาะตามน่านน้ำสากล ส่วนการเดินเรือภายในประเทศไทย ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะบังคับใช้ตามเกณฑ์ใหม่ของ IMO หรือไม่ ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐบาล โดยหากไทยไม่บังคับใช้ตามเกณฑ์ใหม่ของ IMO การเดินเรือในน่านน้ำไทยก็จะยังใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันระดับ 3.5% เท่าเดิม แต่ในด้านของผู้ผลิตก็ได้เตรียมตัวรองรับได้ทุกสถานการณ์