นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากกรมฯ ได้รับนโยบายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ กรมฯ จึงกำหนดแผนงานสำหรับครึ่งปี 2562 โดยมีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ 1) เร่งหาข้อสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้ได้ในปี 2562 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ของไทย จะเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ที่จะจัดขึ้นในระหว่าง 7-8 กันยายน 2562 ที่กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาให้สมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ สามารถหาข้อสรุปในประเด็นที่ยังมีความเห็นและท่าทีที่ต่างกัน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กลไกการระงับข้อพิพาท การลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคคล เป็นต้น
2) สานต่อการเจรจาความตกลงเอฟทีเอที่ค้างอยู่ให้คืบหน้า ซึ่งไทยมีกำหนดประชุมกับปากีสถานรอบต่อไปในเดือนตุลาคมนี้ และหารือกับตุรกีในเดือนธันวาคม 2562 ส่วนศรีลังกาอยู่ระหว่างรอส่งสัญญาณความพร้อม หลังการปรับคณะเจรจาของศรีลังกา 3) เตรียมฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยคาดว่าผลการศึกษาและการรวบรวมความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ของไทยจะเสร็จในปลายเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและคณะรัฐมนตรีพิจารณา
4) การหาข้อสรุปเรื่อง CPTPP เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้จ้างศึกษาประโยชน์และผลกระทบต่อไทยในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมทั้งได้จัดหารือเพื่อระดมความเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ซึ่งกรมฯ จะนำสรุปผลการศึกษา และผลการระดมความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป และ 5) การเจรจาเอฟทีเอกับสหราชอาณาจักร ภายหลังเบร็กซิท (Brexit) ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับสหราชอาณาจักรเรื่องการจัดทำข้อมูลนโยบายการค้า และศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ที่จะทำเอฟทีเอระหว่างกัน
"กรมฯ เล็งเห็นว่าความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเปิดตลาด และขยายส่วนแบ่งการค้าของไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญวิกฤติและความท้าทายจากการที่หลายประเทศมีการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน" นางอรมน กล่าว
นอกจากนี้ กรมฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร และผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเจรจาได้สูงสุด รวมถึงรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ กรมฯ จึงเดินหน้าจับมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความตกลงเอฟทีเอ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ผลกระทบ และการปรับตัวของไทยต่อไป โดยจะลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และเน้นสินค้าในพื้นที่ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรสำคัญของไทย เช่น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ โคนม โคเนื้อ และอาหารแปรรูปต่างๆ เป็นต้น