นักวิชาการแนะรัฐเร่งฟื้นความเชื่อมั่น/ระวังนโยบายประชานิยมก่อหนี้เสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 19, 2008 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิชาการนิด้า แนะรัฐเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมภาคการผลิตเพิ่มมูลค่าสินค้า หนุนการท่องเที่ยวดึงรายได้ เน้นการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เตือนระวังนโยบายประชานิยมก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์(GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการคลัง กล่าวถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า รัฐบาลควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยเน้นไปที่การฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศและต่อเนื่องไปถึงการบริโภค เพราะที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้หายไปจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย
ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมภาคการผลิตและการท่องเที่ยวให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น การแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อเพิ่มศักยภาพของการผลิตและบริการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เช่นเดียวกับธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่คนไทยมีความได้เปรียบ รัฐบาลต้องกำหนดยุทธวิธีในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งหากิจกรรมเสริม เช่น สปาหรือนวดแผนไทย เพื่อเพิ่มรายได้ให้ประเทศ เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงถึงปีละ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 8 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวก็ใช้ต้นทุนที่น้อยมาก เพราะไทยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวมากอยู่แล้ว
สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ รัฐบาลควรเน้นการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้ประชาชน โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพของการสร้างรายได้ พัฒนาและสร้างโอกาสของการเพิ่มรายได้ เชื่อมโยงไปถึงการส่งเสริมและการพัฒนา SMEs ให้มีศักยภาพในทุกๆ ด้าน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน
ส่วนการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน ในระยะยาวจะต้องระวังให้การใช้เงินเป็นไปอย่างถูกทาง คือ นำไปประกอบธุรกิจ เช่นเดียวกับการพักหนี้เกษตรกรที่ต้องเน้นการส่งเสริมให้ถูกวิธี ให้เข้าใจว่าเป็นการพักเพื่อให้มีเม็ดเงินไปลงทุนต่อ ไม่ใช่พักแล้วไม่ต้องชำระหนี้ เพราะหากเกิดการเข้าใจผิดก็จะก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียเหมือนที่ผ่านมา
สุดท้ายเป็นเรื่องของการลงทุนในโครงการใหญ่อย่างเมกะโปรเจ็คท์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟชานเมือง หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการพัฒนาสนามบิน ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะยาว รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง เพราะจะก่อให้เกิดภาระหนี้สิน แต่อาจใช้วิธีการร่วมทุนกับภาคเอกชนโดยมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง เช่น พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอต่อสภาฯ ในเร็วๆ นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ