นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ส.ค.62 ได้บรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมประเด็นการใช้การซื้อขายผ่านนายหน้าบุคคลที่สาม การขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหลังการนำเข้า และหลักการปฏิเสธการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อบทว่าด้วยการซื้อขายผ่านนายหน้าบุคคลที่สาม อนุญาตให้สินค้าที่ซื้อขายผ่านนายหน้า ซึ่งไม่ว่านายหน้านั้นจะมีถิ่นฐานอยู่ในภาคี RCEP หรือนอกภาคี ยังคงสิทธิที่จะขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP ตราบเท่าที่สินค้านั้นมีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าตามที่กำหนดไว้ และส่งตรงจากประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งผลิตและ/หรือส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าซึ่งอยู่ในภาคี RCEP โดยการอนุญาตดังกล่าว เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค RCEP ของไทย
ส่วนประเด็นการยื่นขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรย้อนหลัง มีข้อสรุปว่า หากผู้นำเข้ามิได้ยื่นขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP ต่อศุลกากร ณ ขณะนำเข้า ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอรับสิทธิฯ ดังกล่าวหลังจากการนำเข้าแล้วได้ โดยต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบภายในของประเทศผู้นำเข้า ทั้งนี้ ผู้นำเข้าที่ประสงค์จะขอรับสิทธิฯ ต้องแจ้งความประสงค์ต่อศุลกากร ณ ขณะนำเข้า การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหลังการนำเข้าอาจอยู่ในรูปการคืนอากรส่วนต่าง หรือการคืนเงินประกันก็ได้
สำหรับประเด็นการจัดทำข้อบท ว่าด้วยการปฏิเสธการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเพื่อกำหนดหลักการและวางแนวปฏิบัติการปฏิเสธการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของศุลกากรประเทศผู้นำเข้า โดยหากสินค้าใดไม่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าตามที่กำหนดไว้ในข้อบทว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า สินค้านั้นย่อมขาดคุณสมบัติที่จะขอรับสิทธิการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้า ทั้งนี้ ศุลกากรประเทศผู้นำเข้าที่ปฏิเสธการให้สิทธิฯ ต้องแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวต่อผู้นำเข้า
"การเจรจาจัดทำกฎถิ่นกำเนิดสินค้า RCEP ได้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเจรจา โดยมีเป้าหมายจะสรุปผลการเจรจา RCEP ก่อนการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ RCEP (RCEP Summit) ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นคงค้างได้ในการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิด ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 กันยายน 2562" นายอดุลย์กล่าว