นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย. จะมีการหารือระดับทวิภาคีกับหลายประเทศทั้งลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency:IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency:IRENA)
ทั้งนี้ ในส่วนการเจรจากับกัมพูชาจะมีการหารือปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่รื้อรังมานาน ก็คาดหวังว่าจะมีความก้าวหน้าในรัฐบาลชุดนี้ เพราะกัมพูชามีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก ขณะที่ไทยก็เป็นประเทศที่มีพลังงานไฟฟ้าสูง การหารือก็จะทำให้สนองนโยบายการเป็นผู้ค้าไฟฟ้าของภูมิภาค เป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้าไปสู่กัมพูชาได้อย่างไร นอกจากนี้กัมพูชาก็มีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งไทยก็มีความพร้อมเข้าไปร่วมลงทุน หรือส่งเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าระหว่างไทยและกัมพูชา
"เรื่องพื้นที่ทับซ้อนเราคงจะคุยกันว่าจะจับมือเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร แต่คงไม่ถึงกับได้ข้อยุติ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องหารือไม่ใช่เฉพาะกระทรวงพลังงาน แต่ต้องหารือครอบคลุมถึงเรื่องระหว่างประเทศด้วย...เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมา 20-30 ปีแล้ว ถ้าทุกฝ่ายมีความตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็จะร่วมกันในการผลักดันให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ของพื้นที่ทับซ้อนอย่างไร"นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กัมพูชามีความต้องการซื้อไฟฟ้าจากไทย ขณะที่ไทยก็จะส่งเสริมเอกชนเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ซึ่งภาคเอกชนมีความสนใจพลังงานถ่านหินที่เกาะกง ซึ่งก็จะมีการพูดคุยกันในเวทีนี้ด้วย ส่วนไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจากเกาะกงเข้ามาด้วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากันต่อไป เพราะพื้นที่ดังกล่าวหากผลิตและป้อนไฟฟ้าในกัมพูชา ก็อยู่ในแนวชายแดนของไทยจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร เพราะการผลิตแหล่งพลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่องระดับสากลไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง
สำหรับเอกชนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนก็เป็นเรื่องของภาคเอกชน แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็มีสิทธิเข้าไปลงทุนด้วยเช่นกัน ขณะที่กลุ่ม บมจ.ปตท.(PTT) ก็มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ทางรัฐบาลก็พร้อมที่จะส่งเสริมให้เอกชนไทยให้ไปเติบโตในภูมิภาคเพื่อให้เป็นผู้นำของภูมิภาค
"การเป็นผู้นำของภูมิภาคเกิดตั้งแต่ตัวนโยบายของประเทศ ความเข้มแข็งของภาคเอกชนที่จะมีบทบาทในเรื่องพลังงาน ความสามารถที่จะพลิกจากผู้นำ และเป็นผู้ผลิต และผู้ขาย และการที่จะเป็นผู้ที่เอาพลังงานที่มีอยู่แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ อย่างไฟฟ้าก็มาเป็นเทรดเดอร์ อันนี้เป็นทิศทางที่เราต้องศึกษา"รมว.พลังงาน กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า การเจรจาทวิภาคีกับเมียนมา ก็จะมีทิศทางที่คล้ายกันกับกัมพูชา ซึ่งจะนำไปสู่ทิศทางที่เป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค (Grid Connectivity) ซึ่งในเวทีนี้ก็จะเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของการขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคีในโครงการลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM-PIP) ซึ่งจะมีแถลงการณ์ร่วมกันออกมา และจะเป็นโมเดลต้นแบบในระดับพหุภาคี และเป็นการตอบสนองนโยบายพลังงานที่จะเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
ส่วนพลังงานทดแทนเป็นเป้าหมายอาเซียนที่จะผลักดันพลังงานทดแทนในอีก 6 ปีข้างหน้าให้ขึ้นไปถึง 23% แต่ไทยมีเป้าหมายถึง 30% หมายถึงไทยก็จะผลักดันพลังงานทดแทนให้เข้ามามีบทบาทเป็นแหล่งพลังงานในอนาคต และมีความตั้งใจที่จะให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่มีความก้าวหน้าและเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนในอนาคต โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่มาจากพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นที่มาของการผลักดันนโยบายหนึ่งชุมชนหนึ่งพลังงานทางเลือก ทั้งโซลาร์ ฝายขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นหนึ่งทางเลือกของพลังงานชุมชนได้ด้วย โดยรัฐบาลกำลังจะประกาศนโยบายเร็วๆนี้ หลังจากนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 12 ก.ย.