สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและกลางย่อม (สสว.) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 79.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน 2562 ที่อยู่ที่ระดับ 81.8 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าฐานที่ 100 สะท้อนถึงผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจหดตัวลงต่อเนื่อง ประชาชนขาดความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจประเทศ ส่งผลให้ประหยัดอดออมและระมัดระวังในการใช้จ่าย
ดัชนี TSSI เดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากความเชื่อมั่นในองค์ประกอบด้านยอดจำหน่ายสินค้า และกำไรปรับตัวลดลงมาก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รู้สึกว่าสถานการณ์ทางการค้าและบริการยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับเดือนก่อน อีกทั้งยังไม่มีปัจจัยเกื้อหนุนใหม่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายสินค้าและบริการในเดือนกรกฎาคมลดลง ถึงแม้จะมียอดที่ดีขึ้นบ้างในช่วงวันเข้าพรรษาและอาสาฬหบูชา แต่ช่วงก่อนและหลังเทศกาลยังคงไม่มีลูกค้าเหมือนเดิม ส่งผลให้กำไรลดน้อยลง ซึ่งสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวและฝนตก ผนวกกับสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา ทำให้นักท่องเที่ยวมาไม่ค่อยมากนัก ด้านการแข่งขันทางการค้ามีการขายตัดราคากันเอง ซึ่งทำให้กำไรลดลงต่อเนื่อง ส่วนร้านค้าปลีกแทบขายไม่ได้เพราะมีร้านสะดวกซื้อเปิดใหม่เป็นจำนวนมากและเข้าถึงแหล่งชุมชน อีกทั้งยังเปิด ตลอด 24 ชั่วโมง และมีโปรโมชั่นที่ร้านค้าปลีกทั่วไปไม่สามารถแข่งขันด้วยได้ ประกอบกับประชาชนขาดความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้ ส่งผลให้ประชาชนประหยัดอดออมและเลือกใช้จ่ายมากขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME จำแนกตามสาขาธุรกิจ พบว่า สาขาธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในระดับลดลง จะมีเพียงสาขาค้าปลีกสถานีบริการน้ำมัน บริการกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว การขนส่งมวลชน โรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล และร้านอาหาร/ภัตตาคารที่ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นยังคงมีค่าน้อยกว่าค่าฐานที่ 100
สำหรับดัชนี TSSI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 100.6 จากระดับ 100.2 ในเดือนก่อน สถานการณ์ทางการค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ผู้ประกอบการมีความเห็นว่าในช่วงเดือนตุลาคมสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะดีขึ้นบ้าง อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีผลให้เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงดังกล่าว เช่น การเพิ่มเงินช่วยเหลือให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ แต่ในส่วนของการแข่งขันทางธุรกิจ ผู้ประกอบการบางรายเริ่มมีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดและการบริหารจัดการภายใน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และเพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายให้ได้มากขึ้นในระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่พยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้มีความภักดีกับกิจการ มีการจัดโปรโมชั่นคืนกำไรให้ผู้บริโภคต่อเนื่อง และคาดว่าจะมียอดจำหน่ายสินค้าและการบริการเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการลงทุน คาดว่าจะชะลอการลงทุนออกไปสักระยะ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และเสถียรภาพของรัฐบาลที่ยังไม่มั่นคง แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ยังคงดำเนินธุรกิจในลักษณะเดิม
ทั้งนี้ สสว. ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME ทั่วประเทศ จำนวน 1,400 ตัวอย่าง