นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ที่ล่าสุดระดับหนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส และขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 11 ของโลกนั้น เรื่องนี้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าไปติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
โดยกระทรวงการคลังได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งลงพื้นที่ และให้เครือข่ายเข้าไปติดตามดูแลปัญหาเป็นรายบุคคล
"คลังและแบงก์ชาติจะดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด คลังก็ให้ออมสินและธ.ก.ส. ส่งเครือข่ายในพื้นที่ลงไปดูแลกลุ่มลูกหนี้ และให้จัดเป็นโครงการเฉพาะ ให้ความรู้การก่อหนี้ และให้ความช่วยเหลือกรณีลูกหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกฝาถูกตัว" นายอุตตม กล่าว
พร้อมเห็นว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในขณะนี้ ยังไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องกังวล และมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เพราะต้องแยกแยะว่าหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำธุรกิจ เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ หลักประกัน
"ถ้าเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ รัฐบาลก็จะสนับสนุน เพราะไม่ใช้หนี้ด้อยคุณภาพ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ประมาท ยังมีการติดตามดูแลสถานการณ์อยู่ตลอด ดูว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้าใจเกี่ยวกับการก่อหนี้ เพราะหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ที่ต้องบริหาร" รมว.คลังกล่าว
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังประเมินว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล แม้ระดับหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1/62 จะอยู่ในระดับสูงที่ 78.7% ต่อ GDP หรือ 12.97 ล้านล้านบาท แต่ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่เคยสูงสุดที่ 81.2% ต่อ GDP เมื่อปี 2558
ทั้งนี้ เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน เช่น ที่พักอาศัย รถยนต์ ซึ่งหนี้เหล่านี้เพื่อเป็นหนี้เพื่อการสะสมความมั่งคั่งในรูปทรัพย์สิน และเพื่อการลงทุนทำธุรกิจหารายได้ ก็จะส่งผลดีต่อความมั่นคงของรายได้ครัวเรือน ขณะที่หนี้ครัวเรือนบางส่วนใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ถือเป็นสินเชื่อที่สร้างรายได้ให้ครัวเรือนด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อหักสินเชื่อธุรกิจนี้ออก ระดับหนี้ครัวเรือนไทยจะลดลงมาอยู่ที่ 65.8% ต่อ GDP ส่วนสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต อยู่ในระดับต่ำเพียง 6.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ 3.3%
นายลวรณ กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยอย่างใกล้ชิด เพราะหากสถานการณ์หนี้เพิ่มสูงขึ้นเกินไป จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของระดับครัวเรือนและเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ โดยกระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน ผ่านกระบวนการทำงานของธนาคารของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน ที่ได้ดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจในการบริการการเงิน การออม บัญชีพอเพียง ผ่านโครงการการออมและบริหารหนี้ที่สมดุลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมีสุข และโครงการสำหรับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษา ผ่านโครงการธนาคารโรงเรียน
ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผ่านโครงการสร้างสังคมแห่งปัญญา ผ่านศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. นอกจากนี้ จะให้สถาบันการเงินของรัฐเข้ามามีบทบาทในการดูแลการปรับโครงสร้างหนี้ให้มากขึ้นด้วย
"กระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ยืนยันว่า ระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลจนจะมีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ จะมีการเติบโตชะลอตัวลงบ้าง จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะโต 4% ก็เหลือ 3% แต่ก็ยังมีการขยายตัวได้ ไม่ได้เติบโตติดลบหรือเกิดภาวะถดถอยแต่อย่างใด" นายลวรณ กล่าว