นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า ตัวแทนสร.กฟผ.จำนวนหนึ่ง จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.) พร้อมทั้งจะทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อคัดค้านมติกบง.เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งให้ยกเลิกการประมูลจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบการจัดทำสัญญา ของกฟผ. และให้ทดลองจัดซื้อ LNG ในตลาดจร (Spot) จำนวน 1-2 ล็อตเพื่อทดลองระบบการแข่งขันนั้น จะทำให้กฟผ.ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ และนโยบายรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะผู้ที่ชนะประมูลจัดหา LNG ให้กับกฟผ.ครั้งนี้ คือปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย ดังนั้น จึงจะขอให้รมว.พลังงานทบทวนมติ กบง.ดังกล่าว
ทั้งนี้ เห็นว่าการที่กบง.มีมติล้มประมูล LNG คงเนื่องจากการรับฟังข้อมูลไม่ครบถ้วน ฟังความจากกลุ่มทุนพลังงานด้านเดียว โดยเฉพาะที่ระบุว่าราคาสัญญาระยะกลางที่เปิดประมูล 8 ปีของกฟผ.มีราคาสูง 7.5 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จึงให้นำเข้าด้วยราคา spot ที่ปัจจุบันมีราคา 3-4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูนั้น ในโลกการค้าพลังงานก็ทราบกันดีราคา spot เป็นราคาชั่วคราวซึ่งไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีราคาถูกเช่นนี้ตลอด และข้อมูลด้านพลังงานก็ระบุชัดว่า5 ปีข้างหน้าตลาด LNG จะเป็นของผู้ขายซึ่งทำให้ราคา LNG อาจจะสูงกว่านี้ ที่สำคัญการประมูลรอบนี้กฟผ.ทำได้ต่ำกว่าสัญญาที่บมจ.ปตท. (PTT) นำเข้าตามสัญญาระยะยาวทุกสัญญา และยังถูกกว่าราคาที่ปตท.เสนอในการเข้าร่วมจัดหา LNG ของกฟผ.ในครั้งนี้ที่ 7.7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูด้วย
ดังนั้น การที่ให้ กฟผ.นำเข้า LNG จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะถูกลงในอนาคต ส่วนเรื่องความกังวลต่อภาระ Take-or-Pay ซึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น น่าจะมาจากราคาก๊าซฯที่ปตท.ตกลงไว้มีราคาสูง แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงงาน (กกพ.) ก็ร่วมหารือจนสามารถบริหารจัดการได้
"อยากขอให้รมว.พลังงานทบทวน หรืออยากให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกจริง ๆ ก็ใช้การนำเข้า LNG แบบ spot ทั้งหมดจะดีกว่าไหม เพราะราคาจะอยู่ราว 6 เหรียญฯ หรือ 200 บาทต่อล้านบีทียู ถูกกว่าราคาที่ปตท.ขายที่ 250 บาทต่อล้านบีทียู"นายศิริชัย กล่าว
อนึ่ง การประชุมกบง.เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้กฟผ. จัดซื้อ LNG แบบ Spot สำหรับการทดลองระบบการแข่งขันเพียง 1-2 ล็อต แทนการนำเข้าตามสัญญา เนื่องจากสถานการณ์ LNG ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยราคา LNG Spot ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แนวโน้ม LNG จะมีราคาลดลง ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ ดังนั้น ความจำเป็นในการนำเข้า LNG มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิม และเตรียมที่จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมกพช.ในวันที่ 12 ก.ย.นี้เพื่อแก้ไขมติกพช.เดิมที่อนุมัติให้กฟผ.นำเข้า LNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี
ขณะที่กฟผ.ได้เปิดประมูลจัดหาผู้นำเข้า LNG แล้วเสร็จจากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาเข้ามาทั้งหมด 12 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ มีเพียงปตท.ที่เป็นผู้ประกอบในไทยเพียงรายเดียวที่ยื่นเสนอราคาเข้ามา โดยผลการคัดเลือกปรากฎว่า ปิโตรนาส แอลเอ็นจี จากมาเลเซีย เป็นผู้ชนะประมูลในปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี ตามสัญญา 8 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัทคู่ค้าที่ชนะการประมูลได้
ล่าสุดสร.กฟผ.ออกประกาศเชิญชวน ชาวกฟผ.ทั่วประเทศพร้อมใจกันแต่งชุดดำในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.) เพื่อค้ดค้านการล้มประมูล LNG ของกฟผ.
ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.คงต้องรอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากกบง.จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อกพช.และครม. เพราะการประมูลเป็นการดำเนินตามมติ กพช. เมื่อปี 60 ซึ่ง กฟผ.ได้จัดจ้างที่ปรึกษาและจัดการประมูล โดยดูข้อมูลรอบด้านรวมถึงทิศทางตลาด LNG ในอนาคตที่อีก 5 ปีความต้องการจะสูงขึ้น โดยสภาพตลาดจะเปลี่ยนจากปัจจุบันที่ตลาดเป็นของผู้ซื้อกลายเป็นตลาดของผู้ขาย
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการนำเข้า LNG ของกฟผ. จะไม่เกิดปัญหา Take-or-Pay เนื่องจากกฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนบริหารจัดการ โดยสัญญาซื้อขายมีความยืดหยุ่น สามารถปรับลดปริมาณการนำเข้า ระหว่าง 0.8 -1.5 ล้านตัน/ปี อีกทั้งกฟผ.ได้เจรจากับบริษัทคู่สัญญาให้ดำเนินการขาย LNG ส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับรายอื่นแทนได้ ส่วนเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลัก ระหว่าง ปตท.กับ กฟผ.เพราะเป็นคนละเรื่องกัน การเจรจากับ ปตท.ก็ยังคงมีต่อเนื่องและในฐานะที่กฟผ.ดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าก็ต้องการให้ต้นทุนก๊าซฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับปตท.ในรูปแบบปีต่อปี จึงยังเป็นเรื่องที่เหมาะสม