ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค.62 อยู่ที่ระดับ 73.6 จาก 75.0 ในเดือน ก.ค.62 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 60.9 จาก 62.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 69.7 จาก 70.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 90.4 จาก 91.9
โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 2/62 ที่ 2.3% เติบโตต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลด GDP ปี 62 ลงเหลือเติบโต 2.7-3.2%, ความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และความกังวลปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตรและรายได้เกษตรที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, การส่งออกไทยในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 4.28% ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.50%, เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ส.ค.62 ปรับตัวลดลงทุกรายการ และปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อีกทั้งยังต่ำสุดในรอบ 33 เดือนนับตั้งแต่ ธ.ค.59 เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ จะทำสงครามการค้ากับจีนมากขึ้น ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4 ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
"เรามองว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังน่าจะนิ่งๆ และมีโอกาสชะลอตัว การบริโภค การจับจ่ายใช้สอยยังน่าจะนิ่งๆ อยู่ และไม่ได้ขยายตัวสูงในไตรมาส 4" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ยังหวังว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีได้ เนื่องจากเห็นสัญญาณของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามา ประกอบกับเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของภาครัฐที่จะเริ่มลงไปในระบบเศรษฐกิจทั้งภาคเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนทั่วไปราว 1-1.5 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกไทยปีนี้คาดว่าจะหดตัวไม่เกิน 1% ซึ่งยังพอช่วยประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ปรับตัวลงไปมาก โดย ม.หอการค้าไทย ยังคงประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3-3.2%
"จากสถานการณ์ส่งออกที่ยังไม่โดดเด่น การท่องเที่ยวยังไม่คึกคัก และกำลังซื้อในประเทศซึมตัว จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นแบบนี้ และยังไม่เห็นสัญญาณปรับขึ้น คงต้องรอดูเดือนหน้า หลังจากที่เม็ดเงินของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มเข้าสู่ระบบ เพราะการทำสำรวจในเดือนนี้ ยังไม่ได้รวมผลที่จะเกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะต้องเพิ่มการให้ข้อมูลข่าวสาร และประชาสัมพันธ์มาตรการของรัฐที่จะลงไปถึงประชาชนให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น" นายธนวรรธน์กล่าว
แต่ทั้งนี้ หากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังไม่ฟื้นตัว ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ เติบโตไม่ถึง 3% ได้
ส่วนปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เชื่อว่าความเสียหายจะคิดเป็นเม็ดเงินราว 5,000-8,000 ล้านบาท แต่จะไม่ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค เนื่องจากน้ำท่วมในครั้งนี้ไม่ได้เกิดในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเขตอุตสาหกรรมสำคัญ
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า จากภาวะเศรษฐกิจประเทศในปัจจุบัน นอกจากการใช้นโยบายคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ
พร้อมมองว่า หากอัตราเงินเฟ้อจากนี้จนถึงสิ้นปียังอยู่ในระดับต่ำ และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-4% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็น่ายังมีช่องพอที่จะทำให้ ธปท.จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1.50%
"ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพราะการคงเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว มีความจำเป็น เพราะขณะนี้ธนาคารพาณิชย์อาจตอบสนองการลดดอกเบี้ยในระดับหนึ่ง แต่มันชี้ให้เห็นว่ายังไม่สามารถดันเงินเฟ้อขึ้นได้ ดังนั้น กำลังซื้อที่เปราะบาง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้าไปกระตุ้น" นายธนวรรธน์ ระบุ
ขณะเดียวกัน ภาวะเงินบาทที่ยังแข็งค่า ธปท.จำเป็นต้องดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับภูมิภาค โดยไม่ให้แข็งค่ามากจนเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้กลับมาฟื้นตัวขึ้นได้