นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การหารือระดับทวิภาคีกับเมียนมาในเวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ในวันนี้ ระดับรัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่าง บมจ.ปตท. (PTT) ที่มีความสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมีในเมียนมา ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็มีความสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมา เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งร่วมกัน หลังจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะหารือในรายละเอียดต่อไป
"เราสนใจจะเข้าไปในธุรกิจก๊าซฯในฝั่งพม่า และการทำปิโตรเคมีในพม่า ซี่งเรื่องเหล่านี้มีการแลกเปลี่ยนกัน และพม่ากำลังขยายตัวด้านนี้ เป็นเรื่องที่ปตท.จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งร่วมกัน นอกจากนั้น กฟผ.ยังเข้าไปลงทุนเรื่องโรงไฟฟ้าในเมียนมาด้วย...ปิโตรเคมี เราเสนอความสนใจไปทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ สิ่งเหล่านี้ต้องไปคุยรายละเอียด ปตท.ได้เข้าไปหารือเรื่องนี้อยู่แล้ว ระดับรัฐบาลก็คุยกันในเชิงสนับสนุน และผลักดันให้มีความคืบหน้า"นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับหัวข้อหลักสำคัญในการหารือกับเมียนมา คือ การดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN POWER GRID) โดยเสนอที่จะขายไฟฟ้าส่งผ่านจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ไปยังเมืองเมียวดี ของเมียนมาที่มีความพร้อมด้านสายส่งขนาด 250 KV ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในเมียนมามีมากขึ้นจากการขยายตัวทางธุรกิจและการพัฒนาประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันตั้งคณะทำงานที่จะดำเนินการเรื่องนี้ทั้งด้านเทคนิค และหารือความเป็นไปได้ในการค้าขายระหว่างไทยและเมียนมาต่อไป
"ไทยก็จะต้องใช้ประโยชน์จาก power connectivity ให้เป็นประโยชน์ตาม concept ที่เกิด LTM (การซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีลาว-ไทย-มาเลเซีย) ต่อไปก็จะมีสิงคโปร์ และในอนาคตก็อาจจะเป็น LT Myanmar LT Cambodia เป็นการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายและส่งผ่านไปสู่อาเซียน ส่วนปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าและราคากับเมียนมาก็ต้องไปเจรจากันเพราะเขามีความต้องการสูงมาก เพราะขาดไฟฟ้าค่อนข้างมาก"
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังหารือเรื่องการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในระดับขนาดเล็ก (small scale) ซึ่งในเวทีการประชุมอาเซียนมีการหารื่อเรื่องนี้กันมาก เพราะ LNG เป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงในอนาคต ซึ่งหลายประเทศมีการทำระบบคลังและการแปรสภาพก๊าซฯขนาดใหญ่อยู่บ้างแล้ว ก้าวต่อไปก็จะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้รองรับการขนส่ง LNG ทางรถหรือเรือขนาดเล็ก ซี่งเป็นในระดับ small scale สำหรับส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และในอนาคตก็อาจจะมีการพัฒนาเรื่องท่อส่งก๊าซฯที่จะเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ ทางเมียนมาก็มีความสนใจเรื่อง LNG และการให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และสถานีบริการน้ำมันในเมียนมา ตลอดจนต้องการให้ไทยช่วยยกระดับเรื่องบุคลากรของเมียนมา ให้มีความสามารถ โดยเฉพาะการบริหารจัดการในด้านพลังงาน
นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ยอมรับในการลงนาม MOU ระหว่าง ASEAN Center of Energy และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งการลงนามใน MOU นี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น ช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และส่งเสริมให้เกิดการก่อตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาเครือข่ายเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน