นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 กันยายนนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานสัมมนา เรื่อง "หลีกภัยสงครามการค้า...มุ่งหน้าอินเดียและเอเชียใต้" เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบถึงข้อมูลโอกาสทางการตลาด รวมทั้งแนวทางการดำเนินธุรกิจในอินเดียและเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล ศรีลังกา เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดรองที่มีศักยภาพ และมีกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอินเดีย
"ท่ามกลางความกดดันของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ผนวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักลดลง ภาวะการส่งออกของไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยง จึงต้องมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการลดการพึ่งพาตลาดหลักเพียงตลาดเดียว กรมฯ จึงเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางการค้าการลงทุนในตลาดรองอย่างอินเดียและเอเชียใต้ ที่จะสามารถผลักดันการส่งออกของไทยให้เดินหน้าฝ่ามรสุมสงครามการค้าต่อไปได้" นายอดุลย์ กล่าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนผลักดันความร่วมมือในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างไทย-อินเดีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมให้เกิดการเปิดโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเน้นการผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และนักลงทุนขนาดกลางของไทย เข้าดำเนินธุรกิจในตลาดอินเดีย ผ่านการสร้างแบรนด์ มุ่งเจาะรัฐที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้ประกอบการได้รับการลดหรือยกเว้นภาษีศุลกากร ซึ่งครอบคลุมรายการสินค้ามากกว่า 4,700 รายการ ทั้งสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้สด อาหารทะเลปรุงแต่ง และสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รัตนชาติ เหล็กกล้า อะลูมิเนียม เป็นต้น
ทั้งนี้ นโยบายด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี อันเป็นพลวัตสำคัญที่จะขับเคลื่อนอินเดียให้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นของโลก ส่งผลให้ตลาดอินเดียในปัจจุบันมีความต้องการและมีกำลังในการซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภาคการส่งออกของกลุ่มสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทยไปตลาดอินเดียในปี 2561 ที่มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์ มูลค่า 693.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+25.24%) ผลิตภัณฑ์ยาง 417.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+34.84%) ทองแดงและของทำด้วยทองแดง มูลค่า 294.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+29.02%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 190.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+73.96%) เป็นต้น และยังมีสินค้าอีกหลายรายการสามารถขยายตัวในตลาดอินเดียได้อีกมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในของอินเดียยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบในด้านการขนส่งและภาพลักษณ์ของสินค้าที่มีคุณภาพในสายตาของชาวอินเดียอีกด้วย
โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยมีมูลค่าการค้ากับอินเดีย 6,562.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 มากกว่า 4.70% โดยเป็นการส่งออก 4,066.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.42% และนำเข้า 2,496.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.87% ทำให้ไทยได้ดุลการค้าอินเดียกว่า 1,570.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญไปอินเดีย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดีย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
สำหรับการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-อินเดีย ในปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มูลค่ากว่า 1,959.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.87% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 1,868.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 59.95% ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิฯ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง ได้แก่ ลวดทองแดงเจือ น้ำมันดิบ เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ -1-คลอโร-2, 3-อีพอกซิโพรเพน (อีพิคลอโรไดริน) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของรถแทรกเตอร์ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เศษเหล็กกล้าไม่เป็นสนิม แทรกเตอร์อื่นๆ ฟีนอล (ไฮดรอกซิเบนซีน) โทลูอีน นอกจากนี้การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการส่งออกภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย มูลค่ากว่า 340.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.89 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 369.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 49.67% ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิฯ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ โพลิคาร์บอเนต ตู้เย็นที่มีตู้แช่แข็ง อีพอกไซด์เรซิน โพลิอะซีทัล โพลิอีเทอร์อื่นๆ โพลิอะไมด์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ อะลูมิเนียมเจือ ส่วนประกอบเครื่องสูบลมหรือสูบสุญญากาศ อะคริลิกโพลิเมอร์