นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวระหว่างเปิดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 ว่า การร่วมมือของประเทศในอาเซียนถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค ซึ่งนำมาสู่เสถียรภาพและความมั่นคงของอาเซียน และยังส่งเสริมบทบาทและความสัมพันธ์ของอาเซียนให้เด่นชัดขึ้นในสายตาประชาคมโลก
"ดังที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ว่า ความสำเร็จของอาเซียนนั้นเริ่มต้นจากความกล้าที่จะฝัน และที่สำคัญไปกว่านั้น คือการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนความฝันให้เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของการค้าการลงทุนอาเซียนในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลสะท้อนความสำเร็จที่มาจากความร่วมมือ ลงแรงระหว่างสมาชิกอาเซียนในการดำเนินมาตรการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ" นายจุรินทร์ กล่าว
ปัจจุบันแม้อาเซียนจะบรรลุเป้าหมายของการเป็นประชาคมไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่อาเซียนยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการรับมือต่อความท้าทายใหม่ๆ เช่น การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจ ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้ว เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน และการลดผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี
นายจุรินทร์ ระบุว่า ในปี 2562 นี้ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจฉบับปัจจุบันซึ่งมาถึงเกือบครึ่งทางแล้ว โดยมุ่งผลักดันทั้งประเด็นภายใต้แผนงานที่ไทยเห็นว่าจะต้องดำเนินงานต่อเนื่อง หรือเร่งรัดให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว รวมทั้งประเด็นใหม่ๆ ที่อาเซียนยังไม่เคยมีการดำเนินการมาก่อน เช่น แผนงานด้านนวัตกรรม และแผนการดำเนินการตามกรอบบูรณาการด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นการสานต่อจากที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีที่แล้วได้ผลักดันไว้
ส่วนการจัดทำแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ (4IR) รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยนั้น ล้วนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนให้มีการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนการสร้างความเชื่อมโยงนั้นหวังว่าสมาชิกอาเซียนจะสามารถเข้าร่วมการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนได้ครบทั้ง 10 ประเทศภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น การจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอาเซียนผ่านการท่องเที่ยวสู่ชุมชนได้มากยิ่งขึ้น
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ว่า จะช่วยเสริมสร้างความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาให้มากขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศในการหาทางออกร่วมกัน และมีความยืดหยุ่นต่อกันให้มากที่สุดในช่วงระยะ 3 เดือนที่เหลือจากนี้ ที่จะมีการประชุม RCEP Summit ในเดือนพ.ย.62 โดยหวังว่าจะสามารถสรุปผลได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ตามที่ผู้นำประเทศสมาชิก RCEP ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้
พร้อมเชื่อว่า การเจรจา RCEP มีแนวโน้มสูงที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากแก่ประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศในการเพิ่มตลาดการค้าการส่งออกในระดับใหญ่ขึ้นถึง 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของจำนวนประชากรโลก
"RCEP ถ้าเจรจาเสร็จในปีนี้ ก็จะเร่งให้มีการลงนามของผู้นำทั้ง 16 ประเทศโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยทำให้ทั้ง 16 ประเทศมีตลาดการค้าเพิ่มขึ้นถึง 3,500 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก และทั้ง 16 ประเทศนี้ มี GDP มูลค่ารวมกันถึง 30% ของโลก ดังนั้นก็จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 16 ประเทศรวมทั้งไทยด้วย นี่จึงเป็นที่มา ที่เราพยายามเร่งรัดให้การเจรจาจบภายในปีนี้ให้ได้" นายจุรินทร์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เนื่องจากอาเซียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ จากปัจจัยแวดล้อมภายนอก อาเซียนจึงจำเป็นต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและสามารถก้าวพ้นจากความท้าทายดังกล่าว ซึ่งไทยพร้อมจะร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน และหุ้นส่วนต่างๆ ของอาเซียน ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายตามที่อาเซียนตั้งไว้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน ครั้งที่ 33 ในวันนี้นั้น ประเด็นสำคัญคือ การผลักดันให้เกิดการลดภาษีสินค้าส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนเหลือ 0% โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2560 ที่บางประเทศยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน
"วันนี้จะได้มีการเจรจาทำความเข้าใจกันเพื่อให้บรรลุผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2560 ให้ได้" นายจุรินทร์ ระบุ
ส่วนข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนที่ต้องการให้ผู้นำอาเซียนควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการต่อต้านสงครามการค้านั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทุกประเทศจะมีแนวทางของตัวเองอยู่แล้วในการดำเนินการ เพราะคงไม่มีประเทศใดที่ไม่ทราบสถานการณ์นี้ เช่น ประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ก็มีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยมีแนวทางสำคัญคือการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชนในการติดตามสถานการณ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิด และเร่งวางแนวทางเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการส่งออกให้เกิดขึ้นโดยเร็ว รวมทั้งมีแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม