นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 51 ว่า สามารถสรุปประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานตามพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) 2025 โดยได้ให้ความเห็นชอบพิธีสาร 4 ฉบับ และให้ดำเนินการไปตามแผนงาน ประกอบด้วย 1)แผนการดำเนินงานด้านดิจิทัลของอาเซียนในปี 2019-2025
2) การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 3)แนวทางการพัฒนาคนเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) และ 4)แนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลของ Micro SMEs
โดยในกรณีของ 4IR ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้าน 4IR พร้อมเห็นว่า เรื่อง 4IR ไม่ควรจะเป็นเรื่องเฉพาะเสาเศรษฐกิจของอาเซียนเท่านั้น แต่ควรจะต้องเกี่ยวพันกับอีก 2 เสาที่เป็นความร่วมมือของอาเซียน คือ เสาสังคมวัฒนธรรม และเสาวการเมืองความมั่นคงด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้หารือเพื่อเตรียมการสำหรับเจรจากับ 12 คู่เจรจา ในระหว่างการประชุมช่วงวันที่ 8-10 ก.ย.นี้ ได้แก่ อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลีใต้, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-สหรัฐอเมริกา, อาเซียน-อินเดีย เป็นต้น
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในการที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งนี้ ถือว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างยิ่ง และทั้ง 10 ประเทศอาเซียนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน อย่างน้อยที่สุดก็ในประเด็นที่จะได้ผนึกกำลังเพื่อเตรียมการรับมือกับอนาคตในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา การเตรียมรับมือในเรื่องของคนที่ต้องพัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการผลิตสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ ยังเกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างกัน ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก ลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าซึ่งกันและกัน รวมถึงการร่วมกันลดอุปสรรคทางการค้ากับประเทศคู่ค้านอกอาเซียนด้วย
ขณะเดียวกัน อาเซียนรวมทั้งไทยมีความตั้งใจที่จะเปิดโอกาสให้ Micro SMEs ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนากิจการให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป และเป็นการเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งท้ายสุดจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เศรษฐกิจในระดับฐานรากต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยในการเตรียมรับมือกับสงครามการค้านั้น รัฐบาลได้มีความพยายามจะดึงการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย รวมถึงเร่งรัดการส่งออกให้มากขึ้น โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขจัดอุปสรรคหรือผลกระทบที่เกิดจากสงครามการค้า และจัดตั้งวอร์รูมขึ้น เพื่อจัดทำแผนงานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้เริ่มเห็นความชัดเจนเป็นลำดับแล้ว