ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ม.ค.51ที่ 86.0 จาก 79.8 ใน ธ.ค.50

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 20, 2008 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค.51อยู่ที่ 86.0 ปรับเพิ่มจาก 79.8 ในเดือน ธ.ค.50 โดยทะยานพุ่งสูงสุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่สร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศดีขึ้น
"ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.0 จาก 79.8 ในเดือนธันวาคม 2550" นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธาน ส.อ.ท.ระบุในเอกสารเผยแพร่
ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ ยานยนต์ และการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ซึ่งได้รับผลบวกจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี เนื่องจากการปรับขึ้นของเงินเดือนและโบนัสประจำปีในสถานประกอบการต่างๆ
นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศแม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลงมากจนส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 1.25% ในเดือน ม.ค.51 แต่ตลาดยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอาเซียนยังคงขยายตัวดีอยู่
ส่วนดัชนีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 102.6 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือน ธ.ค.50 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน
"แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในนโยบายและมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ และทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีความชัดเจน นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศและให้ความสำคัญกับนโยบายเปิดตลาดใหม่มากขึ้น" นายอดิศักดิ์ กล่าว
หากจำแนกดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมตามขนาดอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยได้รับผลจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่เพิ่มขึ้น และผลบวกจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าขายที่ช่วยลดผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสินค้า ส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
โดยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค.51 พบว่า ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุด รองลงมาเป็นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหา Sub prime ของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามด้วยปัจจัยการเมืองในประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ แต่ความกังวลในปัจจัยต่างๆ ของผู้ประกอบการมีแนวโน้มลดลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมืองและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังเสนอให้ภาครัฐกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุนและลดต้นทุนการผลิต เร่งการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ควบคุมราคาวัตถุดิบไม่ให้สูงเกินไป ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ ลดอัตราภาษีการนำเข้าเครื่องจักร ลดอัตราภาษีนิติบุคคล ส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้มีประสิทธิภาพ จัดเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร วิทยาการใหม่ๆ ของการผลิตสินค้าหรือเครื่องจักรต่างๆ ให้ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ
สำหรับผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย(Thai Industries Sentiment Index:TISI) ในเดือน ม.ค.51 ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 620 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ