นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 จะมีการปรับภาษีสรรพสามิตความหวานแบบขั้นบันได ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี หากยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลได้จะต้องเสียภาษีอีกเท่าตัว
ในช่วงที่ผ่านมาที่เริ่มมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความหวานตั้งแต่ 16 ก.ย. 60 พบว่ามีผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องดื่มเพียงยี่ห้อเดียวลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อให้เสียภาษีความหวานถูกลง ขณะที่รายอื่น ๆ ใช้วิธีออกสินค้าใหม่ และระบุว่ามีปริมาณน้ำตาลต่ำแทน เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบกับสินค้าเดิมที่ขายอยู่ในตลาด โดย
ปัจจุบันภายใต้ภาษีความหวาน กรมฯจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2-3 พันล้านบาทต่อปี โดยอัตราภาษีใหม่ที่จะปรับแบบขั้นบันได มีผลในวันที่ 1 ต.ค.2562 จะทำให้กรมมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.5 พันล้าน หรือคิดเป็นรายได้จากภาษีน้ำหวานที่ 3.5-4.5 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีภาพรวมของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2562 ที่ 5.84 แสนล้านบาท และปี 2563 ที่ 6.4 แสนล้านบาท มั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ กรมฯเตรียมหารือกับคณะทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา (อย.) เข้าไปกำกับดูแลผู้ประกอบการให้เพิ่มขนาดเครื่องหมายแจ้งเตือนปริมาณน้ำตาล ให้สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น อ่านได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการแจ้งเตือนโทษด้านสุขภาพบนหน้าฉลากบุหรี่ ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์ให้ได้รับประโยชน์ในภาษีด้วย ซึ่งจะต้องหารือในขั้นตอน หลักการและวิธีการต่อไป
นายณัฐกร กล่าวว่า จากการบังคับใช้ภาษีความหวานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมฯ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปสำรวจความรับรู้มาตรการภาษีความหวานกับประชาชน พบว่ามาตรการภาษีจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับตัว โดยลดประมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม และมีการติดฉลาก เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบเพิ่มขึ้นกว่า 200% จากเดิม 60-70 รายการเป็น 200-300 รายการ แต่ในการรับรู้ประชาชนยังไม่มาก กลุ่มที่ตื่นตัวคือกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี และกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนวัยทำงานยังสนใจน้อย และยังมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานสูงอยู่มาก
"เอกชนเริ่มปรับตัวกับภาษีความหวานแล้ว จากการหารือก็เข้าใจความต้องการของกรมฯ ในการช่วยดูแลสุขภาพให้กับประชาชน และยืนยันว่าที่ผ่านมาราคาเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเพราะต้นทุนที่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้มาจากต้นทุนด้านภาษี" นายณัฐกร กล่าว