(เพิ่มเติม) "จุรินทร์" เปิดประชุมอาเซียน+3 สร้างความร่วมมือฝ่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 10, 2019 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวก 3 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้) กล่าวเปิดประชุมว่า ในนามของอาเซียนมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับรัฐมนตรีของแต่ละประเทศเพื่อเข้าร่วมในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวก 3 ทั้งรัฐมนตรีจากสาธารณรัฐประชาชนจีน กระทรวงเศรษฐกิจเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่น และรัฐมนตรีกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน จากเกาหลีใต้

ประธานการประชุมอาเซียนบวก 3 กล่าวว่า ในกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนบวก 3 ถือเป็นความร่วมมือและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้เติบโตในเศรษฐกิจโลก มีความร่วมมือในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนบวก 3 รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานเอกชนในภูมิภาค เช่น สภาธุรกิจเอเชียตะวันออก

นายจุรินทร์ กล่าวว่า อาเซียนและประเทศบวก 3 ได้ส่งต่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคประชาชน และภาคการค้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ตลอดจนการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีทางด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน

ทั้งนี้ ในปี 2561 มูลค่าการค้ารวมระหว่างอาเซียน-ประเทศบวก 3 เพิ่มขึ้น 6.8% จากปี 2560 ส่วนด้านการลงทุน พบว่าการลงทุนของอาเซียน-ประเทศบวก 3 มีมูลค่า 37.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 24.5% ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้าสู่อาเซียน หรือเพิ่มขึ้น 9.9% จากปี 2560

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าในความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและการค้าของโลก จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการพัฒนาการค้าและการลงทุนที่มีความเหมาะสมต่อไป

ขณะเดียวกัน ทุกประเทศเห็นพ้องกันว่าควรผลักดันการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 16 ประเทศให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ในช่วงการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2562 เนื่องจากความตกลง RCEP จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสินค้า บริการ การลงทุน และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการค้าการลงทุนแก่นักธุรกิจของประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ เนื่องจากจะทำให้มีกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบในการผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีสามารถเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย ขณะเดียวกันต้องเร่งเดินหน้าในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ รวมทั้งจะต้องยืนยันหลักการค้าเสรีในการสนับสนุนกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานทั้งวัตถุดิบปัจจัยการผลิต การแปรรูป การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการพัฒนาการผลิตด้วย

"การประชุมดังกล่าวเป็นผลสำเร็จร่วมกันของทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย และมั่นใจว่าถ้าการเจรจาประสบผลสำเร็จประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่จะได้รับประโยชน์ เพราะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม และลงลึกไปถึงเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถส่งออกสินค้าไปในตลาดที่มีผู้บริโภคมากถึง 3,500 ล้านคนในภูมิภาค เป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกและจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในอีก 15 ประเทศด้วย" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ระบุ

นอกจากระหว่างอาเซียนด้วยกันเองจะได้รับประโยชน์แล้ว ประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากจะช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศ เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทุกระดับโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากช่วยให้เกษตรกรมีตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ขึ้น แทนที่จะส่งออกเฉพาะประเทศใกล้เคียงหรือกลุ่มอาเซียน แต่จะเป็นการส่งไปได้เพิ่มอีก 6 ประเทศ ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

สำหรับผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไทยและอินเดียเห็นพ้องกันในเรื่องการเปิดเสรีการค้า (FTA) ระหว่างกัน ซึ่งมีความคืบหน้าไปทิศทางที่ดี ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันให้เพิ่มเติมขึ้น โดยฝ่ายไทยแจ้งว่าจะมีคณะจากภาครัฐและเอกชนเดินทางไปอินเดียในระหว่างวันที่ 24-28 ก.ย.นี้ เพื่อเจรจาการค้าและเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ ไทยประสงค์จะไปเจรจาขยายตลาดสินค้าเกษตรในอินเดีย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง

สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปอินเดีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากอินเดีย เช่น เครื่องจักรกล อัญมณี ยาและเวชภัณฑ์ เหล็ก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ