นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ,อดีต รมว.คลัง และอดีตประธานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลตระหนักคือการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประคับประคองไม่ให้ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป
สำหรับแนวทางกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเชิงของการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร แม้ว่าที่ผ่านมายอมรับว่าสินค้าเกษตรผันผวนและลดลงตามทิศทางเดียวกับตลาดโลก ทำให้นโยบายพยุงราคา, จำนำพืชผล, ประกันราคา เพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้น แนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรได้คือต้องอัดฉีดเงินช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง เพื่อนำไปใช้จ่ายให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทันที อย่างไรก็ตาม การใช้เงินช่วยเหลือเกษตรกรต้องประเมินข้อมูลให้มีความแม่นยำโอนเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะไม่เช่นนั้นงบประมาณที่นำมาใช้จะไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า นโยบายที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันค่อนข้างล่าช้า ขณะที่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้จ่าย เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลปัจจุบันคิดเป็น 16% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นสัดส่วนต่ำมากที่สุดในโลกที่โดยเฉลี่ยแล้วรายได้ของรัฐบาลควรต้องมากกว่า 20% ของจีดีพี ดังนั้น รัฐบาลควรหาแหล่งเงินจากการกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะสภาพคล่องในระบบมีค่อนข้างสูง และฐานะการคลังของไทยยังมีศักยภาพที่จะกู้เงินได้อีกว่า ไม่ควรใช้นโยบายปรับขึ้นภาษีอย่างเดียว
"รัฐบาลควรหันมากู้เงินเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะถ้าวิเคราะห์ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด สามารถขยับเพดานหนี้สาธารณะขึ้นมาได้ถึง 70% ต่อจีดีพี ปัจจุบันอยู่ระดับกว่า 40% ต่อจีดีพี ซึ่งถ้าใช้ความระมัดระวังในช่วงที่ขึ้นไประดับ 50% ต่อจีดีพีค่อยมาพิจารณาอีกครั้งก็ได้
มองว่ารัฐบาลยังใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยเกินควร และอยากให้ยืดหยุ่นกฎระเบียบต่างๆเพราะข้าราชการส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ ขณะที่บางฝ่ายยังกังวลเศรษฐกิจไทยว่าจะซ้ำรอยกับต้มยำกุ้ง แต่อยากให้มองว่าเรื่องหวาดกลัวได้ผ่านพ้นไปแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจในไทยมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ค่าเงินบาทวันนี้เราก็ลอยตัว และยังเกินดุลไปมาก ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามนี้ก็มองว่าไม่ได้เป็นความเสี่ยง แต่แค่มองเป็นเรื่องที่ไทยกำลังเสียโอกาสมากกว่า
ส่วนนโยบายกระตุ้นผ่านบัตรคนจน มองว่าเป็นการเอามดตะนอยมากัดช้าง ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยมาก ดังนั้นต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้เอกชนมีความเชื่อมั่นมาลงทุนได้เร็วกว่านี้ สุดท้ายถ้ารัฐบาลมีความพยายาม ขยันทำงาน ผมเชื่อว่าสิ้นปีนี้จีดีพีของไทยมีโอกาสโตได้มากกว่า 3% ได้เช่นกัน"นายวีรพงษ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย มองว่าแม้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีส่วนต่างไม่มากหากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยโลก โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยอีกในระยะถัดไป ซึ่งดอกเบี้ยไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาเฟดปรับลดดอกเบี้ยทำให้กระแสเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้าในไทย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า เป็นปัจจัยบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากส่งออกของไทยที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะมีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพีประเทศ
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่กำลังมีสัญญาณชะลอตัว เหตุผลหลัก คือ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เพราะสัดส่วนส่งออกของไทยต่อจีดีพีค่อนข้างสูง ดังนั้นควรมีแนวทางเข้ามาดูแลผู้ส่งออกและค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป นโยบายด้านการเงินและการคลังต้องสอดรับกันในการดูแลการเข้า-ออกเงินทุนต่างประเทศ
นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่มีความชัดเจนเรื่องการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เอกชนจับจังหวะในการลงทุนด้านต่างๆ อาทิ การนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจในช่วงถัดไป นอกจากนั้น ควรต้องมีนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยว เช่น เว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และต้องนำเงินช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่ชนบท ส่วนภาคเอกชน ควรลดอุปสรรคผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เอกชนลงทุนได้สะดวกขึ้น