นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกยางพาราของไทย พบว่าปัจจุบันไทยครองแชมป์ประเทศผู้ส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 61 ไทยส่งออกยางพาราสู่ตลาดโลกมูลค่ากว่า 4,602 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.82% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งที่ไทยส่งออกยางพาราไปถึง 1,960 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 43% ของมูลค่าการส่งออกยางพาราทั้งหมด
ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยลงนามแล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีส่วนสำคัญในการทลายกำแพงภาษีนำเข้ายางพาราในประเทศคู่ค้า สร้างแต้มต่อทางการค้าช่วยผลักดันการส่งออกสินค้ายางพาราไทยเติบโตขึ้น โดยปัจจุบัน 16 ประเทศคู่เอฟทีเอ คือ อาเซียน 9 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ายางพาราทุกรายการให้ไทยแล้ว มีเพียงจีนและอินเดียที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้ายางบางรายการ เช่น อินเดียเก็บภาษีนำเข้าน้ำยางธรรมชาติ 70% ยางแผ่นรมควัน 20% ขณะที่จีนเก็บภาษียางพารา 20%
และเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกปี 61 กับปี 35 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับอาเซียน พบว่าไทยส่งออกยางพาราไปตลาดโลกได้ 1,144 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 302% สอดคล้องกับสถิติปี 61 ที่สินค้ายางพาราเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกมากเป็นอันดับต้น
แม้ปัจจุบันการส่งออกยางพาราของไทยประสบปัญหาจากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้ความต้องการยางพาราเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น รถยนต์ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ ลดลง แต่เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง และ ไทย-ออสเตรเลีย เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การส่งออกยางพาราของไทยในทั้ง 2 ตลาดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ก.ค.) ขยายตัว โดยฮ่องกงขยายตัว 57% ขณะที่ออสเตรเลียขยายตัว 22% ซึ่งกรมฯ คาดว่าในระยะยาวเอฟทีเอทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะช่วยให้ไทยสามารถครองความเป็นผู้นำการส่งออกยางพาราได้
"เพื่อรักษาสถานะการเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกสินค้ายางพาราของไทยอย่างยั่งยืน กรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้ายางพาราเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น จีน อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา ปากีสถาน และสมาชิกอาร์เซ็ป เป็นต้น ขณะเดียวกันขอให้ผู้ประกอบการไทยมุ่งเน้นรักษามาตรฐานการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดด้วย" นางอรมน กล่าว