นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการประกันรายได้เกษตรกรไปแล้ว 2 ชนิด คือ ข้าว และปาล์มน้ำมัน และเตรียมจะเสนอมาตรการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภายในเดือน ก.ย.นี้ และจากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ชาวสวนยางจะเข้าสู่กระบวนการประกันรายได้ได้ทันที
โดยรัฐบาลจะประกันราคายางแผ่นดิบที่ 60 บาท/กก., น้ำยางสด 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก.
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า สำหรับพืชอื่นๆ รัฐบาลก็จะดำเนินการช่วยเหลือเช่นกัน ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ การลดต้นทุนการผลิต การใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินต้องนำไปปฏิบัติ และจะต้องสื่อให้เกษตรกรได้รับทราบด้วย เพราะหากดำเนินการกันเองเฉพาะหน่วยงานราชการ แต่เกษตรกรไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีส่วนร่วมก็จะไม่มีนโยบายที่จะประสบความสำเร็จได้
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ประสบปัญหาจากโรคใบด่าง 45,400 ไร่ เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรต้องอนุมัติงบประมาณเร่งด่วน เพื่อหยุดสถานการณ์เชื้อราโรคใบด่างไม่ให้ลุกลามและสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ต้องการเห็นคนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการเกษตร เป็นนักธุรกิจการเกษตร เป็นเพราะคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้รับการเรียนรู้ มีนวัตกรรม มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย
"เชื่อว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะเป็นการปฏิรูปเกษตรกรรมครั้งใหญ่ วันหน้าเกษตรกรไม่ต้องกังวลกับการหาตลาด เชื่อว่าวันข้างหน้าท่านจะหาตลาดเองได้ในระดับหนึ่งจากการใช้เทคโนโลยี..นี่คือสิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการเกษตรกรรมของประเทศไทย...แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ตัวแทนเกษตรกรและเกษตรกร" รมว.เกษตรฯ กล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดอยู่ในขณะนี้ ตนเองจะลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน ที่ จ.ร้อยเอ็ด และสัปดาห์หน้าจะไป จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ขณะที่วันนี้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่นครศรีธรรมราช ตรัง และสุราษฎร์ธานี
นอกจากนั้น ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.) อธิบดีกรมชลประทานจะไปตั้งศูนย์เฉพาะกิจบริหารจัดการน้ำที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์ทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ทำให้น้ำลดลงให้เร็วที่สุดและมากที่สุด ขณะเดียวกันพื้นที่ไหนที่จะสามารถใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ก็ต้องทำไปพร้อมๆ กัน
สำหรับในเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ จะเข้าช่วงฤดูมรสุมทำให้ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมบริหารจัดการน้ำในทุกจังหวัดแล้ว แต่ถ้าสถานการณ์รุนแรงไปกว่าที่เตรียมการไว้ก็คงต้องมีบางพื้นที่เกิดความเสียหาย แต่จะดูแลให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด หรือถ้าไม่เกิดได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีมาตรการจะดูแลเรื่องพันธุ์พืช และจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งด้วยเช่นกัน