นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการชิมช้อปใช้มีความพร้อมดำเนินการแล้ว โดยขณะนี้มีร้านค้าทั่วประเทศมาลงทะเบียนเพื่อให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นถุงเงินแล้วกว่า 32,000 ร้าน ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ 40,000 ร้าน ประกอบด้วย ร้านอาหาร 15,000 ร้าน ร้านค้า 15,000 ร้าน และโรงแรม 2,000 แห่ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปิดรับลงทะเบียนร้านค้าไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายอดการลงทะเบียนได้ไปตามเป้าหมายก็ตาม
"มั่นใจอย่างมากว่าจะมีร้านค้าให้ความสนใจมาลงทะเบียนเพื่อร่วมโครงการเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน โดยหลังจากนี้ได้มีการประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหอการค้าไทย ในการประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเพียงพอในการให้บริการประชาชนที่คาดว่าจะลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคน" รมว.คลัง ระบุ
พร้อมยืนยันว่า ยังไม่มีแนวคิดจะขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการชิมช็อปใช้ออกไป โดยประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสามารถใช้สิทธิ์ได้ภายใน 27 ก.ย.-30 พ.ย.62 เนื่องจากมองว่าต้องการให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนในช่วงดังกล่าว
สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.62 โดยขั้นตอนการเลือกจังหวัดเพื่อไปท่องเที่ยว จะมีการแสดงรายละเอียดทั้งหมดว่าในจังหวัดที่เลือกนั้น มีร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรมกี่แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้การวางแผนท่องเที่ยวสะดวกขึ้น
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า สัปดาห์หน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมบัญชีกลาง จะสามารถเดินหน้าจ่ายเงินล็อตแรกให้เกษตรกร 2 ล้านราย ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2562 และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้งได้
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อยากชี้แจงเพื่อให้ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้คลายความกังวลและให้สบายใจว่า ข้อมูลทั้งหมดในโครงการไม่เกี่ยวข้องกับภาษี และกรมสรรพากร ดังนั้นร้านค้าจะไม่มีการถูกเรียกเก็บภาษีอย่างแน่นอน โดยมาตรการดังกล่าวต้องการจะสนับสนุนให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเท่านั้น