น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกองควบคุมการกักกันพืชและสัตว์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเดินทางมาตรวจประเมินโรงงานผลิตกากปาล์มน้ำมัน และกากรำข้าวที่ประเทศไทย พร้อมทั้งยกร่างพิธีสารว่าด้วยการส่งออกสินค้าทั้ง 2 ชนิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ซึ่งจีนได้แจ้งให้ทราบผลการตรวจประเมินโรงงานผลิตกากปาล์มน้ำมันและกากรำข้าว 4 แห่งที่ได้ทำการตรวจประเมินในภาพรวมแล้ว เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานดี โดยมีสิ่งที่ต้องปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้ทั้ง 4 โรงงานผ่านการตรวจประเมินและได้รับการรับรองมาตรฐานสามารถที่จะส่งออกกากปาล์มน้ำมันและกากรำข้าวไปจีนได้
ก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตรได้แจ้งจำนวนโรงงานผลิตกากปาล์มน้ำมันและกากรำข้าวของไทยที่มีความพร้อมให้จีนตรวจประเมินและให้การรับรองเพื่อผลิตสินค้าดังกล่าวส่งออกไปยังจีนจำนวนทั้งหมด 7 โรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่จีนแจ้งความประสงค์ที่จะตรวจประเมินเพียง 4 โรงงานเท่านั้น โดยจะถือทั้ง 4 โรงงานเป็นตัวแทนการตรวจประเมินโรงงานทั้งหมด ดังนั้นหากทั้ง 4 โรงงานผ่านการตรวจประเมินและได้รับการรับรอง ส่วนอีก 3 โรงงานที่เหลือจะไม่ต้องรับการตรวจประเมินอีก แต่ต้องส่งเอกสารตามที่จีนกำหนดให้จีนพิจารณา หากเป็นไปตามเงื่อนไขก็สามารถส่งออกได้ด้วยเช่นกัน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ฝ่ายจีนยินดีที่จะผลักดันให้ส่งออกสินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ภายหลังที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนอนุญาตแล้ว โดยกรมวิชาการเกษตร จะจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการส่งออกสินค้าทั้ง 2 ชนิดแจ้งให้ผู้ประกอบการการทราบเพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด
โดยภายในปีนี้ ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมที่จะส่งออกกากปาล์มน้ำมันและกากรำข้าวได้ทันที หลังจากที่จีนอนุญาตให้ส่งออก โดยตั้งเป้าการส่งออกสินค้าทั้ง 2 ชนิดไว้ขั้นต่ำชนิดละ 10,000 ตัน/เดือน โดยราคากากปาล์มน้ำมันมีราคากิโลกรัมละ 3.5 บาท ส่วนกากรำข้าวราคากิโลกรัมละ 8.6 บาท สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ในประเทศจีนได้เติบโตอย่างรวดเร็ว กรมวิชาการเกษตรจึงได้ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเปิดตลาดกากปาล์มน้ำมันและกากรำข้าวที่สกัดน้ำมันแล้วไปจีน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมการผลิตอาหารสัตว์เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งกากไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าทั้ง 2 ชนิดได้ถือเป็นการส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มาจากพืชไปจีนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย