นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมการค้าการลงทุน ซึ่งในส่วนที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการส่งออก คือการให้ความสำคัญกับการค้าชายแดน จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมครั้งนี้ โดยมีตัวแทนพาณิชย์จังหวัดจากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25 จังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องสำคัญ ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ภาคเอกชนเสนอให้มีการจัดตั้ง กรอ.ชายแดนไทย-ลาว เพื่อให้มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการค้า การลงทุน การขนส่ง รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นว่ามีความสำคัญและควรให้การสนับสนุน ดังนั้นจึงมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รับเป็นเจ้าภาพที่จะนำเรื่องนี้ไปนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ลาว ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะประชุมในต้นเดือน ธ.ค.62 นี้
เรื่องที่ 2 ภาคเอกชนอยากให้ประชาชนลาวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจากเดิมอนุญาตให้สามารถใช้ Boarding pass เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 2 วัน 3 คืน โดยได้ขอขยายเพิ่มเป็น 7 วัน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการไทย-ลาว ซึ่งมี รมว.มหาดไทยเป็นประธาน เพื่อหารือเรื่องนี้ซึ่งเป็นข้อตกลงไทย-ลาวมาก่อนแล้ว
เรื่องที่ 3 ภาคเอกชนขอให้มีความชัดเจนในการนำเงินบาทไปลงทุนในประเทศลาว ซึ่งเดิมวงเงิน 4.5 แสนบาท – 2 ล้านบาท ต้องแจ้งต่อกรมศุลกากร ซึ่งขณะนี้เกิดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในแต่ละด่าน ดังนั้นจึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงการคลังเพื่อให้ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน
เรื่องที่ 4 การขอขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ จ.หนองคาย และ จ.มุกดาหาร จากเดิม 6.00-22.00 น. ขอขยายเวลาเป็น 5.00-24.00 น. ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี จากเดิม 6.00-20.00 น. ขอขยายเป็น 5.00-22.00 น. และด่านท่าลี่ จ.เลย จากเดิม 7.00-18.00 น. ขอขยายเป็น 7.00-20.00 น. ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาเรื่องนี้
เรื่องที่ 5 การขออนุมัติเอกสาร ฟอร์ม D (เอกสารถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออก) โดยเอกชนเสนอขอให้สามารถในการรับรองเอกสารส่งออกด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ในที่ประชุมอาเซียนจะให้ดำเนินการได้ภายในมีนาคม 2563 กรณีที่เอกชนขอให้มีการอนุมัติเอกสารฟอร์ม D ไทย-ลาว ลาวขอให้มีการอนุมัติที่จุดชายแดน โดยไม่ต้องส่งไปที่เวียงจันทน์นั้น รัฐมนตรีจากประเทศลาวได้แจ้งในที่ประชุมอาเซียนว่า ลาวจะสามารถอนุมัติเอกสารฟอร์ม D ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในสิ้นปีนี้ เพื่ออำนวยการส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว
เรื่องที่ 6 ภาคเอกชนขอให้บุคลากรของลาวสามารถเข้ามาฝึกงานในประเทศไทยได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยไม่ต้องทำ Work Permit เพื่ออำนวยความสะดวกให้มีแรงงานของไทยที่จะกลับไปทำงานในประเทศลาวได้ ตนได้มอบหมายให้นำเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการการค้าชายแดน ซึ่งมีรมว.พาณิชย์เป็นประธานที่จะต้องพิจารณาต่อไป โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
เรื่องที่ 7 กรณีภาคเอกชนจะขอให้มีการอนุมัติการนำรถยนต์ส่วนบุคคลของประเทศจีน และเวียดนามเข้ามาในชายแดนไทยโดยไม่ต้องขออนุมัติล่วงหน้า 7-15 วัน ซึ่งเรื่องนี้ผู้แทนจากกรมการขนส่งทางบกได้มอบให้กรมการขนส่งจังหวัดเป็นผู้พิจารณาต่อไป ซึ่งในแง่เศรษฐกิจก็ถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว และหากทำได้ก็จะเริ่มในปลายเดือน พ.ย.นี้
เรื่องที่ 8 ภาคเอกชนขอให้มีการเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จากจังหวัดหนองคายไปเวียงจันทน์ ซึ่งเดิมไม่สามารถขนสินค้าได้ หากมีการพิจารณาให้สามารถทำได้จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่าง 2 ประเทศได้มากขึ้น 67.5%
รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูลการค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-กค.) มีมูลค่ารวมกว่า 117,116 ล้านบาท เป็นการส่งออก 70,228 ล้านบาท นำเข้า 46,888 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 23,340 ล้านบาท และการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว คิดเป็น 18% ของการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีสัดส่วนประมาณ 99% ของการค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์ สินค้าปศุสัตว์ น้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ด่านสำคัญ ได้แก่ ด่านศุลกากรหนองคาย มีมูลค่าการค้ารวม 35,162 กว่าล้านบาท รองลงมา คือ ด่านศุลกากรมุกดาหาร ด่านศุลกากรทุ่งช้าง ด่านศุลกากรช่องเม็ก และด่านศุลกากรนครพนม