นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมปรับเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน (โซลาร์ภาคประชาชน) หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบแนวทางการปรับรูปแบบโครงการแล้ว ขณะที่ตั้งแต่เปิดโครงการเมื่อปลายเดือนพ.ค. จนถึงปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมยื่นข้อเสนอติดตั้งไม่ถึง 1 เมกะวัตต์ (MW) ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะมีการติดตั้งราว 100 เมกะวัตต์/ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี
โดยขณะนี้รอเพียงความชัดเจนนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งหากภาครัฐต้องการให้ปรับรูปแบบโครงการเพื่อสร้างแรงจูงใจมากขึ้น ทางกกพ.ก็จะรีบติดตามและประเมินผลโครงการเร็วขึ้น จากเดิมที่มีแผนจะสรุปการดำเนินการในช่วงสิ้นปี 62 ซึ่งแนวทางเบื้องต้น อาจจะต้องปรับการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 3,000-4,000 บาท/เดือนขึ้นไป เพราะหากกลุ่มนี้ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในต้นทุน 2-3 แสนบาท จะสามารถคืนทุนได้เร็วกว่ากลุ่มคนที่ใช้ไฟฟ้าในอัตราไม่มากนัก เพราะต้องใช้เวลาคืนทุนถึง 7 ปี
ส่วนอีกแนวทางก็ต้องไปดูว่าภาครัฐจะส่งเสริมเรื่องของอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินกลับเข้าระบบในอัตราที่สูงกว่า 1.68 บาท/หน่วยหรือไม่ ซึ่งหากไม่ปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า ก็จะต้องไปพิจารณาแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป
สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เริ่มเปิดให้ประชาชนผู้สนใจยื่นเสนอเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใช้พลังงาน ประเภทครัวเรือนขนาดเล็กได้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป เพื่อใช้เองและนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ ไปขายต่อให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย โดยมีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (KW) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาท/หน่วย มีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี และหากโครงการดำเนินการได้ครบตลอดระยะเวลา 10 ปี จะมีการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนเข้าระบบรวม 1,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) จะมีการผลิตไฟฟ้าตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่มีเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้หารือเบื้องต้นกับกกพ. ถึงแนวทางการปรับเกณฑ์โครงการโซลาร์ภาคประชาชน เบื้องต้นแนวทาง ได้แก่ การเปิดให้กลุ่มธุรกิจเข้าร่วมโครงการได้เช่นเดียวกับกลุ่มครัวเรือน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนถึงเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์/ปีได้เร็วขึ้น เพราะกลุ่มธุรกิจมีความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดทั้งวัน แตกต่างจากภาคครัวเรือนที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน จึงคิดว่าไม่คุ้มค่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
การปรับราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดรับซื้อไว้ 1.68 บาท/หน่วย เพื่อจูงใจภาคครัวเรือนให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น เช่น ปรับขึ้นเป็น 2 บาท/หน่วย แต่ราคาที่ซื้อเกิน 1.68 บาท/หน่วยจะส่งผลให้เกิดความไม่คุ้มค่าหากเทียบกับการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม กกพ.อาจจะนำเสนอทั้ง 2 แนวทางให้กระทรวงพลังงานพิจารณา แต่คาดว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะนำไปใช้สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปี 63 ส่วนโครงการในปี 62 หากประชาชนสมัครไม่ถึง 100 เมกะวัตต์ อาจนำปริมาณที่เหลือไปสมทบกับโครงการในปี 63 ต่อไป