นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความพึงพอใจของประชาชนต่อการอภิปรายนโยบายของนายสมัคร สุนทรเวช และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,404 ตัวอย่าง เก็บรวบรวมข้อมูลวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือการเปรียบเทียบความพึงพอใจของประชาชนต่อการอภิปรายของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ผลการวิเคราะห์พบว่า ด้านการควบคุมอารมณ์ ผู้นำฝ่ายค้านได้ 5.19 นายกรัฐมนตรีได้ 4.47 ด้านความน่าเชื่อถือในข้อมูล ผู้นำฝ่ายค้านได้ 5.02 นายกรัฐมนตรีได้ 4.98 ด้านการตั้งประเด็นได้ตรงเป้าและตอบได้ตรงประเด็น ผู้นำฝ่ายค้านได้ 4.94 นายกรัฐมนตรีได้ 5.13 ด้านความชัดเจนในการพูด ผู้นำฝ่ายค้านได้ 5.69 นายกรัฐมนตรีได้ 5.47 ในขณะที่ด้านความเห็นใจ ความเข้าใจ ผู้นำฝ่ายค้านได้ 5.47 แต่นายกรัฐมนตรีได้ 5.60 โดยคะแนนความพอใจภาพรวม พบว่า ผู้นำฝ่ายค้านได้ 5.302 ซึ่งน้อยกว่า นายกรัฐมนตรีที่ได้ 5.41
ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 ติดตามข่าวการอภิปรายนโยบายรัฐบาลบ้าง ในขณะที่ร้อยละ 6.7 ติดตามอย่างละเอียดและร้อยละ 16.9 ไม่ได้ติดตามเลย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนในยุคนี้เกินครึ่งกลับไม่มีความคิดเห็นเมื่อถูกถามถึงแนวคิดการชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์นองเลือดเดือนตุลาคม 2519 และยิ่งไปกว่านั้นประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.1 ระบุไม่เห็นด้วย มีผู้เห็นด้วยเพียงร้อยละ 14.3 เท่านั้น
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์ โทร.0-2253-5050 อีเมล์: jumnain@infoquest.co.th--