นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเสวนาพิเศษหัวข้อ "แนวพระราชดำริ : ภูมิคุ้มกันโครงสร้าง เศรษฐกิจไทย" ในงานสัมมนา "ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน" ว่า การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุดคือการทำให้คนไทยมีความหวังและเกิดความเชื่อมั่นหรือเกิดความมั่นใจในระยะยาวว่าจะมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ความหวังนั้นจะมาจากหลายปัจจัย และต้องทำให้เห็นโอกาสที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่มากที่จะต้องทำให้คนไทยมีความปลอดภัย มีความเจริญ และมีความสุข ท่ามกลางการอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี, ภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งในแง่ของความท้าทาย และในแง่ของโอกาส เราจะทำอย่างไรให้ความท้าทายเปลี่ยนมาเป็นโอกาส และทำให้ความกลัวเปลี่ยนมาเป็นความหวังได้
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า 3 สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความท้าทายสามารถเปลี่ยนเป็นโอกาส และความกลัวสามารถเปลี่ยนเป็นความหวังได้ คือ 1. การทำให้คนไทยเก่งขึ้น และสามารถใช้ความเก่งได้อย่างเต็มศักยภาพ นั่นคือระบบการศึกษา โดยต้องทำให้คนไทยสามารถพัฒนาตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา และตลอดชีวิต ไม่จำกัดการพัฒนาความรู้ไว้แค่ภายในสถาบันการศึกษาเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้
"การศึกษา ทำให้เราสามารถไต่ขึ้นสู่ฐานะทางสังคม ฐานะการเงิน และฐานะทางอาชีพที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างโอกาสให้คนสามารถก้าวขึ้นบันได เพื่อแสดงศักยภาพได้ ระบบนิเวศน์จะต้องเอื้อคนเก่งให้แข่งขันได้เต็มที่ ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้คนตัวเล็กสามารถแข่งขันได้ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรม" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
2. การคำนึงถึงความยั่งยืน โดยไม่เบียดบังทรัพยากรหรือคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อไปมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น การขาดดุลการคลังในปัจจุบันจำนวนมากก็เสมือนเป็นการทำให้ภาระภาษีของคนรุ่นใหม่ถูกนำมาใช้มากเช่นกัน
3. การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อให้สังคมมีความหวังมากกว่าความกลัว โดยจะต้องมีกลไกที่สามารถรองรับต่อความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้คนไทยมีความมั่นใจต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว ซึ่งแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ในจุดนี้ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการประกันภัยสินค้าเกษตร เป็นต้น
"เราต้องทำให้เขาได้มีหลังพิง ไม่ใช่ให้เขาเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ จะต้องส่งเสริมให้เกิดโครงการดีๆ เพิ่มขึ้น ท่ามกลางโลกที่เผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น" นายวิรไท ระบุ
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ในส่วนของธปท.เอง ได้สร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องของหนี้ครัวเรือน หลังจากที่พบว่าแนวโน้มคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญลดลงในเรื่องของหนี้ ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำจึงไม่มีแรงจูงใจให้ออมเงินเท่าที่ควร ซึ่ง ธปท.ได้มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินในการออกกฎเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งการตั้งคลินิกแก้หนี้ และล่าสุดธนาคารพาณิชย์ได้มีการร่วมลงนามในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เป็นต้น ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อเป็นทักษะในการวางแผนชีวิตได้อย่างเหมาะสม