นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค.62 อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือน ก.ค.62 และต่ำสุดในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ย.61 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สาเหตุมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังการซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลงเกือบทุกภูมิภาค เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการมีภาวะการแข่งขันสูง ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออก ประกอบกับปลายเดือนเกิดสถานการณ์พายุฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อและมีการเปิดสงครามการค้ารอบใหม่ แม้จีนจะปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ไปแล้ว 16 รายการ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 102.9 โดยเพิ่มขึ้นจาก 102.3 ในเดือน ก.ค.62 โดยผู้ประกอบการคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 62 จะมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ของผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศของภาครัฐคาดว่าจะส่งผลดีต่อยอดขายและยอดคำสั่งซ้อของผู้ประกอบการ
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการเดือน ส.ค.62 จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลกสูงที่สุดถึง 71.6% รองลงมาเป็นอัตราแลกเปลี่ยน (ในมุมมองผู้ส่งออก) 56.7% โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ยเดือน ส.ค.62 อยู่ที่ระดับ 30.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งคาขึ้นเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยในเดือน ก.ค.62 ที่ 30.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านปัจจัยราคาน้ำมันภายหลังจากเกิดเหตุโจมตีแหล่งน้ำมัน 2 แห่งในซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้การผลิตน้ำมันหายไป 5.7 ล้านบาร์เรล/วัน มากกว่า 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของซาอุฯ และคิดเป็นกำลังการผลิตในสัดส่วน 5% ของโลก (ปัจจุบันซาอุฯ มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรล/วัน) แต่สำหรับประเทศไทยเหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายประเทศในตะวันออกกลาง ไม่ได้นำเข้าผูกขาดเฉพาะซาอุดีอาระเบียประเทศเดียว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ส.อ.ท.ยังระบุถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง 1-2 ปี และมาตรการระยะยาว เช่น การลงทุนบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกร การจัดโซนนิ่งพืชผลการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นระยะยาว 2.สนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมกีฬาและสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงมาจากความกังวลที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโลกว่ายังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว และหากเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง พร้อมทั้งออกมาตรการ QE ส่งสัญญานว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัว ซึ่งจำเป็นต้องจัดเตรียมมาตรการไว้รองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา
ด้านนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุโรงงานน้ำมัน 2 แห่งในประเทศซาอุดีอาระเบียระเบิดว่า ปัญหาน่าจะยืดเยื้อ เพราะไม่สามารถหากำลังผลิตมาทดแทน ส่วนการซ่อมแซมต้องใช้ระยะเวลา ขณะที่ในประเทศปริมาณสำรองที่สามารถนำออกมาทดแทนใช้ได้ราว 50 วัน
สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุก 1 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้ต้องเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเพิ่มขึ้น 300 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ขณะที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งประชาชนคงต้องช่วยกันประหยัดมากขึ้น