ชวพม.ระดมความเห็นโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนก่อนชง รมว.พลังงาน มองราคารับซื้อสูงอาจกระทบค่าไฟฟ้ารวม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 17, 2019 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.) จัดเสวนา"โรงไฟฟ้าชุมชนประชาชนได้อะไร" ในวันนี้ เพื่อรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน เสนอต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน โดยเวทีเสวนามองการลงทุนจะเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชนและเอกชน ขณะที่ราคารับซื้อไฟฟ้าควรอยู่ในช่วง 4-5 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และอาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้าภาพรวมแพงขึ้นราว 20 สตางค์/หน่วย แต่ก็จะเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า รูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนที่กฟภ.จัดทำไว้ เป็นรูปแบบการลงทุนแบบบริษัท ไฟฟ้าประชารัฐ...จำกัด ซึ่งหน่วยงานรัฐถือหุ้น 40% และบริษัท ชุมชนประชารัฐ ถือหุ้น 60% โดยบริษัท ชุมชนประชารัฐ แบ่งการถือหุ้น ให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชน 40% และเอกชน 40% ซึ่งอาจให้บริษัทในรัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกฟภ. เข้าไปร่วมลงทุนในวิสาหกิจชุมชนได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้โรงไฟฟ้าระยะยาว

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลพบว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ในช่วง 222-390 ล้านบาท สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ขนาด 2 เมกะวัตต์ หรือโรงไฟฟ้าชีวมล ขนาด 3 เมกะวัตต์ ซึ่งกฟภ.มีสายส่งไฟฟ้ารองรับการผลิตไฟฟ้าชุมชนได้รวม 4,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นจำนวน 1,563 โรงไฟฟ้า ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าควรอยู่ระหว่าง 5.22-5.84 บาท/หน่วย

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนหากอยู่ที่ระดับ 5 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าโรงไฟฟ้าฐานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ซึ่งอยู่ระดับประมาณ 2 บาท/หน่วย หากโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบมากถึง 1,000 เมกะวัตต์ ในรูปแบบไฟฟ้าเสถียร (Firm) จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 20 สตางค์/หน่วย แต่โรงไฟฟ้าชุมชนก็นับว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากพืชผลทางการเกษตร หรือพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ มองว่าโรงไฟฟ้าชุมชนควรต้องเป็นระบบ Firm เพราะจะไม่เป็นภาระต้นทุนในระบบ แต่หากเป็นรูปแบบไฟฟ้าไม่เสถียร (Non-Firm)จะไม่สามารถควบคุมไฟฟ้าได้และจะกลายเป็นภาระต้นทุนไฟฟ้าในอนาคต

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล กล่าวว่า รูปแบบลงทุนของโรงไฟฟ้าชุมชนอาจมาจากชุมชน 30% และภาคเอกชน 70% โดยเน้นเชื้อเพลิงจากเศษวัสดุทางการเกษตรที่ไม่เป็นเชิงพาณิชย์มาก่อนเช่น ซังข้าวโพด ใบอ้อย ฟางข้าว ฯลฯ โดยเงินลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3 เมกะวัตต์ จะอยู่ที่ราว 280 ล้านบาท ขณะที่ราคารับซื้อไฟฟ้าจะมากกว่า 4.24 บาท/หน่วย

นายรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชน ที่เหมาะสมกับพื้นที่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้า และไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น บนเกาะ ชายขอบประเทศ เป็นต้น ควรสร้างเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ มินิไมโครกริด ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 3-6 ล้านบาท โดยชุมชนจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ด้วยการยืมเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาสร้างก่อน และเมื่อขายไฟฟ้าได้ค่อยทยอยชำระคืน สำหรับค่าไฟฟ้าควรเป็นอัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FIT) 4.24 บาท/หน่วย และบวกให้อีก 1 บาท รวมเป็น 5.24 บาท/หน่วย โดยอัตราที่คุ้มค่าการลงทุนที่แท้จริงควรอยู่ที่ 5.8 บาท/หน่วย นางมีนา ศุภวิวรรธน์ ผู้จัดการสถาบันวิทยาการพลังงาน กล่าวว่า จะรวบรวมข้อเสนอจากเวทีสัมมนาครั้งนี้ นำเสนอต่อรมว.พลังงานประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ