นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงข่าวความพร้อมของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ "ชิมช้อปใช้" โดยระบุว่า ในขณะนี้ ระบบงานและแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีความพร้อมแล้วสำหรับรองรับการเปิดรับลงทะเบียนประชาชนที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.62 ผ่าน www.ชิมช้อปใช้.com และการเดินทางท่องเที่ยวพร้อมจับจ่ายใช้สอยที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.62 ถึงวันที่ 30 พ.ย.62 โดยได้กำชับธนาคารกรุงไทย (KTB) ดูแลระบบอย่างเต็มที่ ไม่ให้ล่ม หรือมีปัญหาอุปสรรค กับประชาชนที่จะมาร่วมโครงการ 10 ล้านคน โดยคาดว่าจะเกิดเม็ดเงินใช้จ่ายสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
พร้อมกันนั้นได้มีการสาธิตวิธีการลงทะเบียนและการเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน ทั้ง"เป๋าตัง"ของประชาชน และ"ถุงเงิน"ของผู้ประกอบการร้านค้า เพื่อให้ความมั่นใจว่าการสมัคร การลงทะเบียน และการใช้สิทธิต่าง ๆ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด มีขั้นตอนเพียงไม่กี่ขั้นตอน และใช้เวลาเพียงสั้น ๆ แบบที่เรียกว่า "สมัครง่ายๆ... ใช้จ่ายสบายกระเป๋า"
รมว.คลัง ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังได้ปรับหลักเกณฑ์มาตรการ "ชิมช้อปใช้" ให้ตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ มากขึ้น เรื่องแรก คือ "ระยะเวลาการใช้สิทธิ" โดยการใช้จ่ายวงเงิน 1,000 บาท สามารถเริ่มใช้สิทธิภายใน 14 วัน โดยหากมีการเริ่มใช้สิทธิแล้ว จะสามารถใช้วงเงิน 1,000 บาทนั้น ต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 พ.ย.562
และเรื่องที่ 2 คือ "ประเภทการใช้จ่าย" โดยขอบเขตการใช้งาน g-wallet ช่องที่ 2 จะครอบคลุมถึงค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักรวมถึงบริการตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าและบริการจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้นอีกหลายประเภท เช่น สปา รถเช่า บริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น
ในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการขณะนี้มีแล้วกว่า 135,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายใหม่กว่า 55,000 ร้านค้า และผู้ประกอบการรายเดิมที่มีการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" อีกกว่า 80,000 ร้านค้า ซึ่งมั่นใจว่าจะเพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนแน่นอน โดยผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ยังสามารถสมัครได้จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2562 นี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายวันรับสมัครออกไปเพื่อให้ร้านค้าเข้าร่วมได้มากที่สุด
"การลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นร้านค้าตามมาตรการ "ชิมช้อปใช้" นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด วัตถุประสงค์ของมาตรการนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนการจับจ่ายใช้สอย เพื่อให้ร้านค้ามีลูกค้าเพิ่มขึ้นและมีทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อไปในระยะยาว จึงขอให้ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ อย่าได้เป็นกังวล"รมว.คลัง กล่าว