ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดศก.ไทยปี51 ขึ้นกับปัจจัยในปท.เชื่อรัฐเน้นการขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 22, 2008 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 51 ต้องพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก และมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงสั้นๆ โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจหลักของโลก ดังนั้นจึงคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศโดยรวม 
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 51 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า อาจขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปี 50 ที่ร้อยละ 4.0-5.2 หรือเฉลี่ยร้อยละ 4.6 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงครึ่งปีแรก และปัญหาราคาน้ำมันที่ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของไทยอาจชะลอตัวลงมาก
นอกจากนี้ ปัญหาราคาน้ำมันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ระหว่างร้อยละ 2.7-4.0 เฉลี่ยร้อยละ 3.3 จากระดับร้อยละ 2.3 ในปี 50
ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว เพื่อเป็นกลจักรกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศโดยรวม
สิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ คือ ประเด็นเฉพาะหน้าหลายประการที่ยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ อาทิ แนวทางการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แผนการที่ชัดเจนของโครงการลงทุนของรัฐที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งต้องคำนึงถึงฐานะการคลังในระยะปานกลางถึงระยะยาวควบคู่ไปด้วย ตลอดจนการกำหนดแนวทางของมาตรการกันสำรอง 30% และแผนการรองรับผลกระทบจากการเก็งกำไรค่าเงินบาท รวมทั้งการตัดสินใจของทางการต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ก็เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศกำลังเฝ้าติดตาม
สำหรับประเด็นที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ที่สำคัญได้แก่ เสถียรภาพของรัฐบาลและเอกภาพในการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลผสม 6 พรรค ในการที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งนโยบายที่มุ่งให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักนี้ ไม่ควรนำมาใช้นานจนเกินไป เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจก่อให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตสูงในระยะสั้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว อาจเป็นปัญหาตามมาในอนาคต
ทั้งนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก จึงต้องมีแผนบริหารการจัดหาเงินลงทุนอย่างเหมาะสม ซึ่งรัฐบาลมีแนวโน้มจำเป็นที่จะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อไปอีกในปีข้างหน้า โดยข้อมูลของกระทรวงการคลังเบื้องต้นระบุถึงการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 52 ว่าอาจจะตั้งวงเงินขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นกว่าในปี 51
แต่อย่างไรก็ตาม ทางการควรพิจารณาขอบเขตการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเหมาะสม โดยดูแลสถานะการคลังไม่ให้ขาดดุลต่อเนื่องนานเกินไป เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อระดับหนี้สาธารณะในอนาคต อีกทั้งการขาดดุลงบประมาณควรมุ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว มากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ