นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 42,129 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 77.33% ลดลง 1.05%
โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA จำนวน 12 ฉบับ ยังไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกง ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 มีมูลค่า 39,079 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 78.25% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้สิทธิประโยชน์ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 49,944 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.32% และการใช้สิทธิ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่า 3,050 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 67.27% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้สิทธิประโยชน์รวม ซึ่งมีมูลค่า 4,534.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.61%
สำหรับตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 14,212 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.จีน มูลค่า 10,740 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ออสเตรเลีย มูลค่า 4,747 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.ญี่ปุ่น มูลค่า 4,470 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 2,654 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดที่มีการขยายตัวของการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด คือ เปรู เพิ่ม 32.99% รองลงมา คือ นิวซีแลนด์ เพิ่ม 10.35% และจีน เพิ่ม 5.85%
ขณะที่ตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ไทย-ชิลี 104.07% 2.ไทย-เปรู 98.01% 3.อาเซียน-จีน 97.61% 4.ไทย-ญี่ปุ่น 90.68% และ 5.อาเซียน-เกาหลี 84.66% โดยสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถบรรทุก ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย
นายอดุลย์ กล่าวว่า หากพิจารณายอดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในช่วง 7 เดือนที่ลดลง 2.32% พบว่าเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีสาเหตุมาจากการส่งออกไปบางตลาดได้ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และเงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกไปยังตลาดสำคัญ คือ อาเซียน ออสเตรเลีย ชิลี เกาหลีใต้ ลดลง จึงมีการใช้สิทธิประโยชน์ลดลงตามไปด้วย
"เมื่อประเมินภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 7 เดือนที่มีมูลค่า 42,129 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 52% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในการที่จะบรรลุเป้าหมายที่กรมฯ ตั้งไว้ทั้งปี 2562 ที่มูลค่า 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% แต่กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างเต็มที่ต่อไป" นายอดุลย์กล่าว
โดยตลาดที่กรมฯ คาดว่าจะผลักดันให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าได้เพิ่มขึ้น คือ จีน โดยไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังจีน เพื่อทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ถูกจีนขึ้นภาษี เพราะพบรายการสินค้าบางรายการ มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่อัตราการใช้สิทธิฯ ยังไม่สูงมากนัก เช่น อาหารปรุงแต่งอื่นๆ ใช้สิทธิเพียง 76.65% เครื่องอัดลมหรืออัดก๊าซอื่นๆ 57.88% ทับทิม แซปไฟร์และมรกต 13.70% เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียมอื่นๆ 2.61% และยังมีกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีศักยภาพในการส่งออก แต่ยังใช้สิทธิฯ ได้ไม่เต็มที่ภายใต้กรอบ FTA ได้แก่ เส้นใยโพลีเอสเทอร์ 4.04% เดนิม 54.37% และส่วนประกอบ และอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับวัดหรือตรวจสอบของเครื่องฉายโพรไฟล์ 36.52% เป็นต้น
นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ในช่วง 7 เดือน สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ 91.79% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 2,799 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิฯ 75.96% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 3,685 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.96% รองลงมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 155 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 26.69% จากมูลค่าที่ได้รับสิทธิ 580 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.36% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องดื่มอื่นๆ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเลนส์แว่นตา
ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนที่จะเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA และ GSP ต่อไป โดยเฉพาะความตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่จะต้องขอใช้ Form E เพื่อประกอบการขอลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้าที่ประเทศปลายทาง (จีน) ให้มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจจะใช้สิทธิดังกล่าว จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและหลักเกณฑ์การขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) อย่างละเอียด เพื่อจะได้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างถูกต้อง