ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งที่ 6 ของปี 2562 วันที่ 25 ก.ย.62 โดยเชื่อว่า กนง.คงจะประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คำนึงถึงปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และพัฒนาการปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากคาดการณ์ กนง. คงมีการทบทวนความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป
สำหรับเหตุผลสนับสนุนที่คาดว่าการประชุม กนง.รอบนี้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม คือ
1. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 ไม่ได้ปรับแย่ลงจากไตรมาส 2/2562 หลังการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้ากลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังทยอยส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2562 ไปแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวคงช่วยให้ กนง. สามารถที่จะรอประเมินการส่งผ่านผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมที่ผ่านมา และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกระยะ
2. กนง. คงจะให้น้ำหนักปัจจัยในประเทศมากกว่าปัจจัยภายนอกประเทศ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยแม้ว่าในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 17-18 กันยายน 2562 เฟดจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยนโยบายลง แต่การที่เฟดส่งสัญญาณที่จะยืนอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดไม่ได้กดดันต่อเงินบาทให้แข็งค่าเพิ่มเติม
ดังนั้น แรงกดดันจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของไทยจึงมีจำกัด
สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่เงินทุนในตลาดตราสารหนี้มีการไหลออก ในเดือนส.ค.ผ่านมา ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า แม้ว่านักลงทุนจะมีการขายตราสารหนี้ไปกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่เกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ดุลการค้ายังคงเกินดุลกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้หดตัวอยู่ก็ตาม
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงมีเครื่องมือเพียงพอในการดูแลค่าเงินบาท ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินทุน รวมทั้งปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงกดดันของค่าเงินอย่างใกล้ชิด และคงทยอยออกมาตรการในการดูแลค่าเงินที่เหมาะสมกับปัจจัยเหนี่ยวนำเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยมาตรการที่ ธปท.ได้นำมาใช้ อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ตลอดจนการปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันทำการของบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยนอกประเทศ สามารถลดแรงเก็งกำไรค่าเงินได้ ซึ่งผลของมาตรการดังกล่าวสามารถช่วยลดกระแสการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงที่ผ่านมาได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเด็นที่ติดตามที่อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่
1. การเปิดเผยมุมมองการเติบโตเศรษฐกิจไทยของ ธปท. เนื่องจากมุมมองดังกล่าวอาจจะเป็นภาพในการสะท้อนถึงความกังวลต่อภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ในกรณีที่มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และ 2563 ขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ 3.5% อย่างมีนัยสำคัญ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงโอกาสที่ กนง.อาจมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี กนง. คงจะนำเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงินและประสิทธิผลการส่งผ่านนโยบายการเงินมาประกอบการชั่งน้ำหนักเรื่องอัตราดอกเบี้ยด้วย
2. ปัจจัยเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยที่อาจมีผลต่อนำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินไทย ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าทิศทางของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ และคงมีนัยต่อพัฒนาการของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมีดังนี้
- การเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค.62 ทั้งนี้ การเจรจาการค้าดังกล่าวคงจะเป็นปัจจัยตัดสินว่าทิศทางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะมีทิศทางปรับดีขึ้นหรือแย่ลง โดยหากทั้ง 2 ฝ่ายสามารถที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าในเบื้องต้น คงมีส่วนให้บรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ชะงักงันกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่การเจรจาการค้าไม่มีความคืบหน้า สหรัฐฯ จะมีการเดินหน้าเก็บภาษีการค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค (สินค้ามูลค่า 40% ของภาษีนำเข้า 3 แสนล้าน) ที่จะถูกเก็บภาษีที่ 15% ในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ตลอดจนการปรับขึ้นของภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในงวดก่อนไปที่ระดับสูงสุดที่ 30% ซึ่งผลของการเก็บภาษีดังกล่าวคงเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับการชะลอตัวอย่างมาก และสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยผ่านการชะลอตัวของภาคการส่งออกและท่องเที่ยว
- การเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรในสหราชอาณาจักรจะมีการออกกฎหมายป้องกันการแยกตัวจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (No-deal) แต่โอกาสที่จะเกิดภาวะ No-Deal Brexit ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตในการขยายเส้นตายของสหภาพยุโรปออกจากวันที่ 31 ต.ค.62 ไปตามที่อังกฤษร้องขอ ตลอดจนปัจจัยการเมืองในอังกฤษว่าจะสามารถที่จะหาข้อสรุปเพื่อสิ้นสุดปัญหาของรูปแบบการออกจากสหภาพยุโรปที่มีเงื่อนไขเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
- พัฒนาการของสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่กดดันให้ราคาน้ำมันมีโอกาสที่จะแกว่งตัวในระดับสูง อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้มีความเปราะบางมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าการผลิตของน้ำมันของซาอุดีอาระเบียจะสามารถฟื้นฟูได้เกือบปกติในช่วงปลายเดือนก.ย.62 ช่วยลดแรงกดดันการปรับขึ้นของราคาน้ำมันไปได้มาก
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอนว่าจะมีการใช้กำลังตอบโต้ ซึ่งในกรณีนี้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูง ซึ่งราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง หากลากยาวจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
"กนง. คงจะประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยคำนึงถึงปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และพัฒนาการปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาขั้นต้นอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากคาดการณ์ กนง. คงมีการทบทวนความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป" บทวิเคราะห์ระบุ