นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการป้องกันโรคใบด่างที่ระบาดใน 11 จังหวัด โดยจะเสนอของบประมาณจากงบกลาง 286 ล้านบาท มาใช้ในการทำลายมันสำปะหลังที่ติดโรค เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรคเพิ่มเติม และช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกทำลายผลผลิต โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติงบประมาณต่อไป
โดยวงเงินดังกล่าว แบ่งเป็น ค่าจ้างเหมาในการทำลายมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ติดโรคใบด่างไร่ละ 3,000 บาท วงเงิน 136 ล้านบาท และอีก 136 ล้านบาท สำหรับจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรไร่ละ 3,000 บาท และอีก 14 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการ
สำหรับเงื่อนไขการแจ้งการพบโรค จะต้องแจ้งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62-30 มิ.ย.63 และแปลงมันสำปะหลังที่ปลูก ต้องขึ้นทะเบียนการเพาะปลูกไว้ในระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 30 ก.ย.62 แต่ถ้าเกษตรกรยังใช้ท่อนพันธุ์ที่ติดโรคมาปลูก หลังจากวันที่ 30 ก.ย.62 ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาใช้ พ.ร.บ.กักกันพืช ประกาศเป็นเขตควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่สามารถทำลายมันสำปะหลังที่ปลูกได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป
"กระทรวงเกษตรฯ จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติการใช้งบประมาณ ซึ่งน่าจะเสนอในสัปดาห์หน้า และจะเริ่มจ่ายชดเชยให้เกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไป ส่วนการรับประกันรายได้ผู้ปลูกมันสำปะหลัง น่าจะเริ่มได้หลังจากประกันรายได้ผู้ปลูกปาล์ม ข้าว และยางพาราแล้ว" รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ระบุ
ทั้งใน ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ได้แจ้งข้อมูลให้ที่ประชุมฯ ทราบว่าในพื้นที่ 11 จังหวัดที่มีการระบาดของโรคใบด่าง เช่นนครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นต้น มีพื้นที่ประมาณ 45,400 ไร่ คิดเป็น 1% ของพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ ที่มีปริมาณ 5 ล้านไร่