สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ส.ค.62 โดยระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,914.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -4.0% จากที่ขยายตัว 4.28% ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดคาดส่งออกในเดือนส.ค.จะหดตัว -1.8 ถึง -2.3%
ทั้งนี้ สาเหตุที่การส่งออกในเดือนส.ค.กลับมาติดลบ เนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รับผลกระทบสงครามการค้า และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
ส่วนการนำเข้า ในเดือนส.ค.มีมูลค่า 19,862.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -14.62% ดุลการค้า เกินดุล 2,052.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับในช่วง 8 เดือนของปี 62 (ม.ค.-ส.ค.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 166,090.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.19% การนำเข้ามีมูลค่ารวม 159,984.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -3.61% แต่ยังเกินดุลการค้า 6,106 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนส.ค.62 ของไทยกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ -4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งส่งออกในเดือนก่อนหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยผลของสงครามการค้าได้นำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งมีผลให้การส่งออกในหลายตลาดหดตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดอาเซียน-5 ตลาด CLMV และเอเชียใต้ที่หดตัวในระดับสูง
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำได้ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงหดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนนี้
"เหตุที่ส่งออกส.ค.กลับมาหดตัว เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหลายประเทศจากสงครามการค้า ความเปราะบางในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 18% ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
ทั้งนี้ การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยการส่งออกไปหลายตลาดยังขยายตัวได้ดี เช่น ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 5.8%, ออสเตรเลีย 18.4% และตะวันออกกลาง 5.3% ขณะที่ตลาดจีน ลดลง 2.7% ตลาดญี่ปุ่น ลดลง 1.2% ตลาดอินเดีย ลดลง 18% และตลาดยุโรป ลดลง 6.2%
"ที่น่ากังวลคือตลาดอินเดีย เพราะช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด แต่มาติดลบ 18% ในเดือนส.ค.นี้ เป็นเพราะสินค้าอุตสาหกรรมติดลบมาก" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากการส่งออกทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญยังขยายตัวได้ดีทั้งในด้านปริมาณและราคา เช่น ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้จากสถานการณ์สงครามการค้า ขณะที่ผลกระทบกรณี Brexit แม้จะยังไม่เห็นภาพชัดเจนนั้น แต่ สนค.กำลังศึกษาว่าจะมีผลกระทบมาถึงไทยอย่างไรบ้าง 2.ราคาน้ำมันในตลาดโลก เพราะแม้ซาอุดิอาระเบียยืนยันว่าจะสามารถประคองให้มีปริมาณน้ำมันออกสู่ตลาดได้ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่อาจจะวางใจได้ 3. ภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลง และตลาดอสังหาริมทรัพย์บางส่วนของไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งต้องติดตามว่าจีนจะมีแนวทางในการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร 4. ภาวะเงินบาทแข็งค่า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญและส่งผลกระทบโดยตรงแล้วต่อการส่งออกสินค้าเกษตร
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อพยายามรักษาเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกในปี 62 ไว้ที่ 3% ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ มีนโยบายจะรักษาตลาดส่งออกเดิม และฟื้นฟูตลาดเก่า เช่น ตลาดตะวันออกกลางที่เคยเป็นตลาดข้าวเก่าของไทย รวมทั้งอิรัก จอร์แดน กาตาร์ บาห์เรน และคูเวต, ตลาดอาเซียน และ CLMV ซึ่งยังเป็นตลาดที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าการค้าได้อีกมาก โดยเฉพาะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนตลาดจีน มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ที่ไทยเข้าไปทำตลาดแล้ว รวมทั้งขยายไปยังมณฑลตอนในหรือเมืองรองที่ยังเข้าไม่ถึง ซึ่ง รมว.พาณิชย์ ได้มีกำหนดการที่จะเดินทางไปเยือนจีนและอินเดียช่วงปลายเดือนนี้
ผู้อำนวยการ สนค. มองว่า แนวโน้มการส่งออกไทยปีนี้ยังมีโอกาสที่จะไม่ติดลบ แม้ว่าในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) จะติดลบไปแล้ว 2.19% โดยหากสามารถรักษาระดับมูลค่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือไว้ได้ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน ก็มีโอกาสที่จะบวกได้เล็กน้อย
"อาจจะ 0% ปริ่มๆ ถ้าแต่ละเดือนที่เหลือส่งออกได้มูลค่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ยังพอได้ คาดว่าทั้งปีจะไม่ติดลบ ถ้าเฮือกสุดท้ายที่เหลือสามารถเร่งผลักดันในแต่ละตลาดได้ แต่ถ้าจะให้ได้ 3% นั้น แต่ละเดือนที่เหลือต้องทำให้ได้ 23,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งดูแล้วน่าจะลำบาก...ปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่ ต้องหาทางช่วยกันรับมือหลายๆ ด้าน" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ