(เพิ่มเติม) รฟท.เผย "ศักดิ์สยาม"เตรียมถกกลุ่มซีพีบ่ายนี้ เร่งติดตามโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน/"อนุทิน" ยันยึด TOR

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 23, 2019 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้นัดหารือกับ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายหลังจากที่ทางกลุ่ม CPH ได้ส่งหนังสือตอบกลับมาในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เจรจาถึงรายละเอียดในร่างสัญญา

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ ได้เรียกนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาฯ EEC พร้อมด้วย คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ มาประชุมหารือร่วมกันให้มีข้อสรุปความชัดเจนในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ร่วมถึงพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตาม TOR ที่กำหนดไว้กับกลุ่ม CPH

นายอนุทิน ยืนยันว่า ขณะนี้ยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่จะสามารถเซ็นสัญญาลงนามได้ จะภายใน 3 วัน 10 วัน ก็ยังดำเนินการได้ ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อโครงการแต่อย่างใด แต่สิ่งสำคัญคือต้องยึด TOR ที่ผู้ประมูลนั้นต้องรับทราบและยอมรับในเงื่อนไขนั้น เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าประมูลไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการเจรจาเพิ่มอีก และขอให้ทำตาม TOR ซึ่งรัฐบาลก็ยึดใน TOR ไม่สามารถไปปรับแก้เงื่อนไขใดๆ ใน TOR ได้ เพราะถ้ารัฐบาลมีการปรับแก้รายที่แพ้ประมูลก็จะมีการฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียหายกลับได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด ระหว่างรัฐบาลและผู้รับสัมปทานต้องปฎิบัติตาม TOR ที่เขียนไว้ว่า ขั้นตอน การดำเนินโครงการ การส่งมอบพื้นที่เป็นอย่างไร

ทั้งนี้ นายอนุทิน เห็นว่า การเรียกร้องให้มีการส่งมอบพื้นที่ทั้ง 100% แล้วจะเซ็นสัญญาเป็นไปไม่ได้ ส่วนที่เหลืออีก 20% ก็ดำเนินการตามกรอบไป ถ้าหากมีการส่งมอบล่าช้า ผู้รับสัมปทานก็สามารถใช้สิทธิ์ในการต่ออายุสัญญาได้ ซึ่งถือเป็นการปฎิบัติทั่วไปที่เกิดขึ้นกับทุกหน่วยงาน

ส่วนภายหลังการหารือแล้วจะสามารถเซ็นสัญญาภายในสิ้นเดือนกันยายนหรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า ถ้าทำทุกอย่างตาม TOR ก็จะสดใส ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะถ้าไม่ทำก็เกิดความไม่มั่นคง ต่างชาติก็ไม่มั่นใจ

พร้อมยืนยันว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง คนรับผิดชอบจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นตนเอง ก็ไม่มีผล เพราะคู่สัญญาคือ รฟท. แม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรีไปกี่คนก็ตามการดำเนินการของ รฟท.ก็เป็นไปตามกรอบเวลา

ส่วนจะให้ระยะเวลากลุ่ม CPH เซ็นสัญญาไปจนถึงเมื่อไรนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว แต่ยืนยันก็ต้องเซ็นสัญญา ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาที่ติดขัดให้กับคู่สัญญาของรัฐ เพื่อให้งานเกิดความสำเร็จ เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัวในการเซ็นการสัญญา ยิ่งตนเองรับผิดชอบแล้ว ติดขัดปัญหาใด ก็พร้อมลงไปช่วยด้วยตนเอง

"เพราะเวลาเข้ามาประมูลไม่ใช่มายื่นกระดาษเพียงใบเดียว มีหนังสือค้ำสัญญาธนาคาร ถ้าไม่เซ็นสัญญา ตาม TOR แล้ว ก็จะถูกยึดหนังสือค้ำสัญญาธนาคาร นอกจากนั้นอาจจะถูกขึ้นบัญชีดำ ในฐานะที่เข้าข่ายว่าเป็นผู้ทิ้งงานด้วย ทางเลือกแทบไม่มี ต้องเซ็นให้ได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ประมูลแล้วต้องทำ ขอให้ตั้งใจทำ เราก็ตั้งใจช่วย " อนุทิน กล่าว

นายอนุทิน ยังกล่าวว่า หากไม่เซ็นสัญญา แล้วเปลี่ยนสัมปทาน รัฐก็ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นในการว่าจ้างรายอื่น ซึ่งส่วนต่างกลุ่มรับสัมปทานเดิมก็ต้องชดใช้ส่วนต่างอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อยังต้องชดใช้ส่วนต่างอยู่แล้วก็ควรดำเนินการเอง ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหา ให้งานเดินหน้าไปได้ เพราะหากงานไม่เดินหน้า EEC ก็ไม่เกิด ส่งผลให้การลงทุนสนามบิน ท่าเรือก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครกล้ามาลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ