นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่ากลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อธิบดีกรมขนส่งทางราง และ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรว่า ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จัดประชุมในวันที่ 27 ก.ย. 62 เวลา 16.00 น. และให้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นข้อเสนอมาลงนามในสัญญาในวันที่ 15 ต.ค. 62
"คณะกรรมการได้ยืนยันกับผมว่าได้ให้เวลามาพอสมควรแล้ว ได้มีการรับเงื่อนไขต่างๆ ที่จะรับได้ภายใต้กรอบระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อภาครัฐ และกรอบร่วมลงทุนทุกอย่าง ทุกประการ วันนี้ไม่ต้องมีอะไรเจรจาอีกแล้ว วันที่ 15 ตุลาคมนี้ต้องมีการเซ็นสัญญากัน การกำหนดนี้เป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการคัดเลือก"นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ หากกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) มาลงนาม ให้ดำเนินการตามสัญญา แต่หากไม่ลงนามในสัญญาจะถูกริบหลักประกันซอง และอาจถูกพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ
แต่หากกลุ่ม CPH ไม่มาลงนาม คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ มาเจรจาต่อไป
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า หากไม่ดำเนินการตามสัญญา ภายในวันที่ 7 พ.ย. จะหมดระยะเวลายืนราคา ถ้าภาครัฐไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ ความผิดจะตกกับภาครัฐจะเกิดความเสียหายมหาศาล ทางเดียวที่ทำได้คือ มาลงนามตามสัญญา
พร้อมย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีโครงการไหนสามารถส่งคืนพื้นที่ได้ครบ 100% ซึ่งพื้นที่ไหนมีปัญหาสามารถมาขอขยายเวลาได้ เพราะโครงการส่วนใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชนไม่มีโครงการไหนเสร็จได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
"เราอยากให้ผู้ชนะที่ 1 ได้งาน ถ้าไม่มาลงนามมีผลต่อเนื่องเยอะแน่ และอะไรตามที่เกิดความเสียหายต่อจากนั้นก็ยังคงต้องรับผิดชอบในทางแพ่งต่อไป ทางออกไม่ค่อยมี นอกจากรีบมาลงนามและช่วยกันทำงานโดยเร็ว"นายอนุทิน กล่าว
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)เศรษฐกิจ ได้ให้เร่งพิจารณาหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" ในวันนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เข้าชี้แจงอธิบายรายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาการประมูล ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามกรอบที่กำหนดไว้ใน เอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ REQUEST FOR PROPOSAL (RFP) อย่างครบถ้วนแล้ว
"รองนายกฯ อนุทิน เห็นว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลต่อความเชื่อมมั่นกับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน จึงหวังว่า วันที่ 15 ต.ค. 62 จะมีการลงนามสัญญาโครงการนี้ อะไรที่อยู่ในระเบียบ ข้อกฎหมาย และ RFP ที่รัฐต้องดำเนินการ รัฐจะดำเนินการให้ ไม่ต้องกังวลว่ารัฐจะเอาเปรียบหรือกลั่นแกล้งเอกชน หรือมีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ซึ่งเงื่อนไข RFP ได้ให้เอกชนได้ศึกษาก่อนที่จะตัดสินใจยื่นประมูลแล้ว"นายศักดิ์สยาม กล่าว
สำหรับกรณีที่เรียกรายที่ 2 มาเจรจาแล้ว หากสรุปราคาสูงกว่าที่รายที่ 1 เสนอ ส่วนต่างที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ชนะประมูลรายที่ 1 จะต้องรับภาระไป ซึ่งเป็นไปตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะรัฐคงจะไม่สามารถรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้
อนึ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มี 2 กลุ่มเข้าร่วมประมูล โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บมจ. ช.การช่าง (CK), บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
ส่วนอีกกลุ่ม คือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH)